กรณีศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการสนับสนุน ดูแล และให้บริการกับกลุ่มบุคคลผู้พิการ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้พิการที่ต้องการการสนับสนุนในรูปแบบเฉพาะ เพื่อให้สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มศักยภาพ

มหาวิทยาลัยซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรและนิสิตในทุกภาคส่วน และส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย ความเสมอภาค การอยู่ร่วมกัน และได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดให้สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นผู้ดูแลในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคลากรทุกกลุ่ม และสำนักบริหารกิจการนิสิตเป็นผู้ดูแลในกลุ่มของนิสิต

หน่วยงานดูแลและสนับสนุนผู้พิการ

จุฬาฯ มีสำนักงานที่ดูแลและให้บริการแก่นิสิตพิการ ชื่อว่า CU Student Corner  ตั้งอยู่บริเวณศาลาพระเกี้ยวชั้นล่าง (ตรงข้ามศูนย์หนังสือจุฬาฯ) เป็นหน่วยงานภายใต้ฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิตที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลและส่งเสริมศักยภาพของนิสิตพิการในรั้วจุฬาฯ โดยเน้นการให้บริการแบบองค์รวม ทั้งในด้านการเรียน การใช้ชีวิต และการเตรียมพร้อมสู่การทำงาน

โครงการสนับสนุนเงินอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับนิสิตพิการ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดให้มีโครงการสนับสนุนเงินอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับนิสิตพิการในระดับปริญญาตรี โดยนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้พิการสามารถประสานสอบถามรายละเอียดและยื่นคำร้องขอรับทุนดังกล่าวได้ผ่านทาง CU Student Corner

สำหรับการขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนการศึกษา เป็นความสมัครใจ ของนิสิตพิการในการขอรับสิทธิ  รัฐบาลกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายที่ให้อุดหนุนไม่เกินขอบเขตที่กำหนดไว้ และนิสิตต้องมีคุณสมบัติครบตามกำหนด

โครงการจ้างงานผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพ หรือผู้พิการ

ในระดับบุคลากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งบริหารงานโดยยึดหลักความเท่าเทียม เคารพสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ จึงได้มีโครงการจ้างงานผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพ หรือผู้พิการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่าอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งในปัจจุบันหลายหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยก็มีบุคลากรผู้ซึ่งพิการที่มีความสามารถทำงานร่วมอยู่ด้วยจำนวนหลายคน

การจัดพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ง่าย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการการจัดพื้นที่ต่าง ๆ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพ ทั้งนิสิต บุคลากร และบุคคลภายนอก เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างสะดวกและเท่าเทียม จึงมีนโยบายและการดำเนินงานในการพัฒนาระบบกายภาพและการจัดการสิ่งแวดล้อมพื้นที่การเดินเท้าภายในมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับผู้ใช้วีลแชร์และผู้พิการทางสายตา โดยออกแบบและก่อสร้างอาคารหลายแห่ง พร้อมทางลาดสำหรับวีลแชร์ ให้สัญญาณสัมผัสรวมทั้งอักษรเบรลล์ ดำเนินการบำรุงรักษาทางเท้าในมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ขรุขระ ไม่กีดขวาง และปรับขนาดทางลาดสำหรับรถเข็นที่เชื่อมต่อกับถนนสายหลักเพื่อไม่ให้แคบเกินไปสำหรับผู้ใช้ หลักการออกแบบเพื่อ  ทุกคน (Universal  Design) และสอดคล้องตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 มาตรา 37 และกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548

ตัวอย่างเช่น อาคารจามจุรี 5 ที่มีการดำเนินการปรับปรุงและได้รับรางวัลชมเชย “อาคารที่เอื้อต่อคนพิการ พ.ศ. 2563” จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ ยังไม่หยุดการพัฒนาและปรับปรุงอาคารเพื่อเอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพหรือผู้พิการเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและความใส่ใจในการเรียน การทำงาน และการติดต่อกับจุฬาฯ ต่อไปในอนาคต

ห้องพักสำหรับผู้พิการ หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอพักนิสิตจุฬาฯ ได้มีการจัดห้องพักเฉพาะสำหรับนิสิตพิการ ซึ่งออกแบบตามหลักการใช้งานที่สะดวก ปลอดภัย และเป็นสัดส่วน เอื้อต่อการใช้ชีวิตของนิสิตพิการ เช่น

  • พื้นที่ภายในห้องกว้างขวาง เหมาะสำหรับการใช้รถเข็น พร้อมเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูงเหมาะสม
  • ห้องน้ำพร้อมราวจับ ออกแบบให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย มีพื้นที่หมุนรถเข็นได้อย่างสะดวก
  • ประตูและทางเข้าแบบไร้ขั้นบันได พร้อมระบบความปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน
  • แปลนห้องที่ชัดเจน แสดงการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม เช่น เตียง โต๊ะเขียนหนังสือ ตู้เสื้อผ้า และห้องน้ำในตัว

การจัดห้องพักในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมความเท่าเทียม และให้โอกาสนิสิตพิการได้ใช้ชีวิตในรั้วจุฬาฯ อย่างสะดวกสบายและมีความเท่าเทียมกับนิสิตคนอื่น ๆ

ห้องพักสำหรับผู้พิการ หอพักบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การปรับปรุง หอพักจุฬานิเวศน์ ซึ่งเป็นหอพักสำหรับบุคลากร ให้เป็นไปตามข้อกำหนดล่าสุดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ทั้งในด้านระบบป้องกันอัคคีภัยและทางออกฉุกเฉิน เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้พักอาศัยโดยเฉพาะผู้พิการ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารเก่าอื่น ๆ ให้รองรับการใช้งานของผู้พิการอย่างเหมาะสม อาทิ การติดตั้งทางลาด พื้นที่หมุนรถเข็น ประตูทางเข้าแบบไร้ขั้นบันได และห้องสุขาที่ได้มาตรฐาน การดำเนินการดังกล่าวมุ่งลดอุปสรรคที่จำกัดความสามารถในการเข้าถึงและใช้งานพื้นที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย อันเป็นการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคให้แก่ผู้พิการ ตลอดจนผู้มาใช้บริการทุกคนอย่างแท้จริง

ที่มา

  • สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

ศูนย์บริการสุขภาพจุฬาฯ ปลุกวัยรุ่นใส่ใจเซ็กส์วัยเรียน ชวนปรึกษา คลินิกสูตินรีเวช แก้ปัญหาเพศสัมพันธ์

ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด Safety Love – Safety Sex Clinic ให้คำปรึกษาด้านสูตินรีเวชและเพศสัมพันธ์แก่นิสิตและบุคลากรจุฬาฯ หวังแก้ปัญหาสุขภาวะทางเพศ (Sexual Well-being)

ความร่วมมือกับชุมชนเพื่อรักษาและเสริมสร้างระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์

ช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับท้องถิ่น เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับชุมชนช่วยกันรักษาและเพิ่มพูนระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ โดยเฉพาะระบบนิเวศในภาวะเสี่ยงอันเนื่องมาจากการพัฒนาเมืองในเขตภาคกลางของประเทศไทย

คณะทำงานด้านความยั่งยืนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ ยุทธศาสตร์ Impactful Growth และมีการสื่อสารถ่ายทอดยุทธศาสตร์นี้ลงไปยังหน่วยงานระดับต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการกำหนดให้เป็นหนึ่งใน OKR หลักของมหาวิทยาลัยด้วย

เปิดเคล็ดลับความสำเร็จ จุฬาฯ สมาร์ทซิตี้ ชวนดูคาระวาน Smart Mobility

จุฬาฯ ขับเคลื่อนโครงการ “จุฬาฯ สมาร์ทซิตี้” (Chula Smart City) ผ่าน “SMART 4” นำนวัตกรรมอัจฉริยะ 4 มิติ ได้แก่ Smart Living, Smart Energy, Smart Environment และ Smart Mobility รองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ให้ประชาคมจุฬาฯ กว่า 50,000 คน ที่ใช้ชีวิตบนพื้นที่กว่า 1.5 พันไร่ ใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมสร้างคุณค่าต่อยอดให้ชุมชนและสังคม ชูจุดเด่นยานยนต์หลากรูปแบบตอบโจทย์ SMART MOBILITY