กรณีศึกษา

โครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการดำเนินกิจกรรมและโครงการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุมประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัย ภายในชุมชนต่าง ๆ

ตัวอย่างโครงการและการดำเนินงานในช่วงปี 2566-2567

โครงการ “คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งตับสำหรับประชาชน” วันที่ 8-19 มีนาคม 2566

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตระหนักและให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงการ กิจกรรมด้านสาธารณสุขเพื่อชุมชน และสังคมมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อผลักดันให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และในการนี้ได้ประสานความร่วมมือกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ และเครือข่ายพันธมิตรของหน่วยงานสาธารณสุข จังหวัดกำแพงเพชร และพื้นที่ใกล้เคียง จัดโครงการ “คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งตับสำหรับประชาชน” ครั้งที่ 2 ณ โรงพยาบาลคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัยและประชาชนในชุมชน จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดใกล้เคียงให้ได้มีโอกาสรับการดูแลรักษาจากสถานพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรงด้วยการส่องกล้อง โดยวิธี Colonoscope และตรวจมะเร็งตับ ไขมันเกาะตับและภาวะตับแข็งด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ช่องท้องและเครื่องตรวจพังผืด Fibro Scan ให้กับประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นการป้องกันโรคก่อนเกิดโรค เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

[ https://mgronline.com/qol/detail/9660000029948 ]

อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไล้ใหญ่และมะเร็งตับเพิ่มขึ้นทุกปี และด้วยมีผู้สูงอายุถึง 26% โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ดีที่ทำให้ประชาชนที่มีอัตราเสี่ยงสูงได้เข้าถึงการบริการ มีการคัดกรองได้รวดเร็วขึ้นเพื่อเป็นการลดอัตราการป่วยจากโรคมะเร็ง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับโรคมะเร็งลำไล้ใหญ่ในครั้งนี้มีจำนวถึง 200 คน ที่ได้มาทำการส่องกล้องโดยวิธี Colonoscope และอีกส่วนหนึ่งผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงมีภาวะพังพืดในตับ ด้วยเครื่องตรวจพังผืด Fibro Scan โดยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงไปสู่มะเร็งตับ สำหรับตรงนี้ได้คัดเลือกผู้ป่วยโดยคัดกรองจำนวน 175 คน ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีจำนวนทั้งหมด 375 คน สำหรับโครงการในครั้งนี้จึงถือเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาชนชาวจังหวัดกำแพงเพชร

โครงการชุมชนปลอดมาลาเรีย วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 31 สิงหาคม 2566

โดยคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย มีพันธกิจสำคัญในการควบคุมและลดการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียในกลุ่มประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง 3 จังหวัดชายแดน ได้แก่ จังหวัดตาก ศรีสะเกษ และกาญจนบุรี โดยให้บริการตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ครอบคลุม ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

โครงการนี้มุ่งเน้นการตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อไข้มาลาเรียในพื้นที่ระบาด โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่มีประชาชนเดินทางเข้าป่า เพื่อหาของป่าหรือใช้ชีวิตในบริเวณนั้น และมีความเสี่ยงจากยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะของโรค การดำเนินโครงการนี้ช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจคัดกรองและมีโอกาสในการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการนำผลงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงให้นิสิตได้มีโอกาสนำความรู้ในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการแก่ชุมชน ช่วยปลูกจิตสำนึกการมีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือสังคม

[ https://www.chula.ac.th/news/133263/ ]

โครงการบริการสุขภาพผู้สูงวัยในบ้านพักคนชรา วันที่ 8 – 29 มีนาคม 2567

โดยคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินโครงการดังกล่าว ณ มูลนิธิวัยวัฒนานิวาส สถานสงเคราะห์คนชรา จ.สมุทรปราการ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลท้ายบ้าน จ.สมุทรปราการ โครงการนี้มุ่งเน้นการให้บริการตรวจสุขภาพที่ครอบคลุมและทั่วถึงแก่ผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ โดยเพิ่มการตรวจเลือดควบคู่กับการตรวจปัสสาวะที่มีความละเอียดมากขึ้น เน้นการตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ ซึ่งเป็นการนำผลการวิจัยของคณะสหเวชศาสตร์จุฬาฯมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โครงการนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการให้บริการวิชาการแก่สังคมและชุมชนซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในสถานสงเคราะห์และบ้านพักคนชรา ที่ซึ่งผู้สูงวัยอาจไม่ได้รับการดูแลสุขภาพที่ทั่วถึงทุกคน การที่ผู้สูงอายุได้รับการตรวจเลือดและปัสสาวะจะช่วยในการวินิจฉัยโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาโรคต่อไป นอกจากนี้โครงการนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อนิสิตที่ร่วมโครงการ เป็นการบูรณาการด้านการเรียนการสอนกับการวิจัย ทำให้นิสิตได้สัมผัสประสบการณ์จริงในวิชาชีพ ได้เรียนรู้และเห็นปัญหาของชุมชน เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคมและพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมไทย โครงการนี้ได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้สูงวัยที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีผลการประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการสูงถึง 97.8%

[ https://www.chula.ac.th/news/179085/ ]

กิจกรรมตรวจวัดสุขภาพชุมชนรอบจุฬาฯ วันที่ 25 มีนาคม 2567

ที่ตลาดสามย่าน โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) ร่วมกับโครงการนวัตกรรมชุมชน “บ้านสุขภาพจุฬาฯ” โดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จัดกิจกรรมตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น ได้แก่ การวัดความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อแขนขา ให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการภายในตลาดสามย่าน ชุมชนรอบจุฬาฯ และประชาชนทั่วไป ช่วยให้ประชาชนได้รับโอกาสการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ที่อาจไม่ได้เข้าถึงการตรวจสุขภาพบ่อยครั้ง ซึ่งมีประโยชน์ในการตรวจพบปัญหาสุขภาพตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องไม่ได้เป็นเพียงการช่วยส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนักด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ชุมชนโดยรอบจุฬาฯ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ

 [ https://pmcu.co.th/news/28920/ ]

ที่มา:

  • คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

รูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพใจ ภายใต้แนวคิดชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ

ปัจจุบันประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 โดยปัญหาสุขภาพทั้งทางกาย และจิตใจ ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่งของผู้สูงอายุ ในด้านที่อยู่อาศัยพบว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 92.44 ต้องการที่จะอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยเดิม และต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ตามแนวคิด การสูงวัยในถิ่นเดิม (Aging in place) ปัจจัยสำคัญคือ ที่อยู่อาศัยต้องถูกออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีความเกี่ยวโยงกับชุมชนที่ต้องดำเนินการปรับสภาพแวดล้อมของชุมชนให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน

อนุรักษ์ปลากระเบนเจ้าพระยา อนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลอง

นักวิชาการต่างยกให้ปลากระเบนเจ้าพระยาเป็นสิ่งมีชีวิตบ่งชี้ความไม่สมดุลของระบบนิเวศน้ำจืดด้วยคุณสมบัติของปลาชนิดนี้ที่มีความไวต่อสารพิษและสภาพการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัย

จุฬาฯ ปลุกการท่องเที่ยวเมืองน่านสีเขียว

“น่าน” มีวิสัยทัศน์ประจำจังหวัด คือ “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ เกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ ชุมชนแน่นแฟ้น และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” น่านได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการพัฒนาการและเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยใช้ 5 กลยุทธ์