กรณีศึกษา

การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนพิการขาขาดทั่วประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace)

จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2560 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการขาขาดประมาณ 40,836 คน โดยผู้พิการถึงร้อยละ 95 ในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนา ใช้เท้าเทียมที่ยังมีคุณภาพต่ำตามสิทธิเบิกพื้นฐานของรัฐบาล หรือ Sach Foot ซึ่งเป็นเท้าเทียมแบบไม่มีข้อเท้า ไม่มีแรงส่งจากเท้าขณะเดิน จึงทำให้การเดินของคนพิการขาขาดยังไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งข้อจำกัดในการเข้าถึงเท้าเทียมที่มีคุณภาพสูงคือข้อจำกัดทางด้านราคาที่แพงอยู่ในช่วงประมาณ 60,000-150,000 บาท ฉะนั้นหากสามารถผลิตเท้าเทียมคุณภาพสูงได้เองในราคาที่เหมาะสมผู้พิการก็จะสามารถเข้าถึงเท้าเทียมคุณภาพสูงได้ ซึ่งจะส่งผลช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้ผู้พิการสามารถกลับไปประกอบอาชีพ พึ่งพาตัวเองได้ ส่งผลดีต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป

ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้พัฒนานวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกคุณภาพสูงทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์มีน้ำหนักเบา แข็งแรง มีความยืดหยุ่นเหมือนมีข้อเท้า สามารถสร้างแรงส่งขณะก้าวเดิน สามารถทำกิจกรรมนอกบ้าน เดินในพื้นที่ขรุขระ การออกกำลังกายเบาๆ และการวิ่งเหยาะๆได้ และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากล ISO10328 ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพกระบวนการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO13485 ได้จดอนุสิทธิบัติกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเลขที่ 20057 ได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ตลอดจนได้ทำการสอบกับผู้พิการจริง (Clinical Trial) เรียบร้อยแล้ว โดยโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้จัดตั้งบริษัทที่ Spin-off ชื่อ MUTHA Co., Ltd. ขึ้น เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายเท้าเทียมไดนามิกเอสเพสคุณภาพสูงที่สามารถผลิตขึ้นได้เองภายในประเทศและถูกกว่าเท้าเทียมไดนามิกจากต่างประเทศ 2-5 เท่า โดยมีราคาเท้าเทียมไดนามิกอยู่ที่ 30,000 บาท โครงการฯนี้เป็นโครงการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว) ผ่านสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) จัดทำโครงการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนพิการขาขาดทั่วประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้กับประชาชน โดยได้นำเอาผลงานวิจัยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส มาผลิตเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้พิการขาขาดทั่วประเทศที่ด้อยโอกาสจำนวน 300 ราย ได้เข้าถึงเท้าเทียมคุณภาพสูง ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยแจกจ่ายผ่านโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศจำนวน 22 แห่ง ขณะเดียวกันก็ดำเนินการเก็บข้อมูล Feed back จากผู้พิการที่ได้รับเท้าเทียมไดนามิกในโครงการฯ แล้วนำมาประเมินความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (ต้นทุนประสิทธิผล) สำหรับเท้าเทียมไดนามิกเอสเพสเพื่อเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับใช้ประกอบการยื่นขอให้เท้าเทียมไดนามิกเอสเพสเข้าไปอยู่ในสิทธิเบิกพื้นฐานของรัฐหรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไป

ที่มา

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกายอุปกรณ์และสิ่งปลูกฝังทางออร์โธปิดิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

เปิดเบื้องหลังความสำเร็จบนเส้นทางแห่งการพัฒนาวัคซีนจุฬาฯ

Chula VRC ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเสมอภาคทางด้านวัคซีนให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งถือเป็นภารกิจในระดับนานาชาติ โดยมีพันธกิจในการวิจัย และพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะในงานด้านการป้องกันโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อชนิดต่าง ๆ

โครงการพัฒนาความมั่นคงในการจัดการสิ่งแวดล้อมของจังหวัดฉะเชิงเทราด้วยระบบบริหารข้อมูลอัจฉริยะการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม

จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ และเป็นพื้นที่มีความพิเศษที่พึ่งพาฐานของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการเกษตรอันเป็นเศรษฐกิจฐานรากโครงการนี้ได้สร้างระบบบริหารข้อมูลอัจฉริยะในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดฉะเชิงเทรา

เปิดภารกิจฟื้นฟูชายฝั่งมาบตาพุด แนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง บนเนื้อที่ทั้งหมด 12,568 ไร่ ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ และเป็นพื้นที่การลงทุนของอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมการผลิตมากมาย อาทิ อุปกรณ์เครื่องใช้ บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงยังช่วยส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

จุฬาฯ กับการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งใหญ่ ใน Chula Sustainability Fest 2022

ในปี 2022 ผลงานที่มีส่วนในการสร้างความยั่งยืนของจุฬาฯ จะไม่อยู่แค่ใน SDGs Report แต่ได้ออกมาสื่อสารในงาน Chula Sustainability Fest 2022 เมื่อวันที่ 2-4 กันยายน 2565 เพื่อสร้าง Commitment สื่อสารนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของจุฬาฯ Connect เชื่อมโยงประชาคมจุฬาฯ และ Inspired สร้างแรงบันดาลใจให้ช่วยกันผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน