บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด
Photo by Rohit Choudhari on Unsplash

การปฏิรูปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สู่มหาวิทยาลัยวิจัยที่ทำการสอน (Research University that Teaches) ได้ถูกขับเคลื่อนผ่านระบบนิเวศน์การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งนอกเหนือจากการผลลัพธ์ด้านการอ้างอิงผลงาน (Citation) ในรูปแบบการตีพิมพ์เผยแพร่ (Publication) การจดสิทธิบัตร (Intellectual property) และการอนุญาตใช้สิทธิ์ (Licensing) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักบริหารงานวิจัย และสำนักบริหารทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้จัดตั้งบริษัทจำกัด (University Holding Company) ชื่อว่า บริษัท ซี ยู เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Enterprise) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนวัตกร ต่อยอดงานวิจัย และส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่สังคม โดยดำเนินงานร่วมกับศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ให้คำแนะนำบ่มเพาะผู้ประกอบการ (Entrepreneurship development) ระดมทุน (Accelerate) รวมทั้งร่วมลงทุนในบริษัทสปินออฟ (University spin-offs) ที่ดำเนินงานโดยคณาจารย์และนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพ 354 ทีม และบริษัทสปินออฟเกิดขึ้นแล้ว จำนวน 100 บริษัท สร้างมูลค่าทางการตลาด (Market Valuation) กว่า 22,000 ล้านบาท บริษัทสปินออฟมีการบริจาคหุ้น 10% คืนให้กับ CU Enterprise แล้ว จำนวน 13 บริษัท แบ่งเป็นงานวิจัยและนวัตกรรมกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มอาหารและการเกษตร นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันของนักวิจัยก่อตั้งชมรม Club Chula Spin-off มีสมาชิกกว่า 200 คน ให้คำแนะนำช่วยเหลือนักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะเริ่มประกอบการธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์บริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ บริษัท CU Enterprise สู่ระดับคณะและหน่วยงาน โดยให้ทุนตั้งต้นเพื่อดำเนินการบริษัทในรูปแบบเดียวกัน ปัจจุบันมีบริษัท Holding company ระดับคณะและหน่วยงานแล้ว 10 บริษัท
กลไกการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์นี้ เป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยไทยในเครือข่ายอีก 11 แห่ง ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับศิษย์เก่า และภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติกับโจทย์วิจัยที่จะสร้างประโยชน์แก่สังคมได้จริง โดยคณาจารย์และนักวิจัยบริษัทสปินออฟ รับนิสิตเข้าทำงานและเรียนรู้โจทย์ปัญหาในบริษัท ทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนิสิตจะได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมแล้ว ยังได้ฝึกการเป็นผู้ประกอบการ และบ่มเพาะลักษณะความเป็นผู้นำแห่งอนาคตอีกด้วย ด้วยประสิทธิภาพการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์นี้ ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คะแนน SDG 9 สูงขึ้นในทุกตัวชี้วัด และได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นจากอันดับที่ 60 ในปี 2021 เป็นอันดับที่ 26 ของโลก และเป็นอันดับที่ 14 ในปีปัจจุบัน รวมทั้งศูนย์บ่มเพาะของมหาวิทยาลัย CU Innovation Hub ได้รับรางวัล Launchpads พร้อมกับบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ที่ได้รับรางวัล Frontiers จากงาน Asiastar 10×10 จัดโดย Alibaba Cloud ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 นี้
ที่มา: บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
อื่นๆ
คณะทำงานด้านความยั่งยืนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ ยุทธศาสตร์ Impactful Growth และมีการสื่อสารถ่ายทอดยุทธศาสตร์นี้ลงไปยังหน่วยงานระดับต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการกำหนดให้เป็นหนึ่งใน OKR หลักของมหาวิทยาลัยด้วย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมาตรฐานคุณภาพน้ำและแนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
การส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมและน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรน้ำให้มีคุณภาพที่ดี เป็นการปกป้องสุขภาพที่ดีให้กับมนุษย์ รวมไปถึงเป็นการปกป้องระบบนิเวศของพืชและสัตว์ที่ต้องอาศัยน้ำเพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน และช่วยส่งเสริมสังคมโลกให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ทั้ง 17 เป้าหมาย
การดำเนินการนโยบายด้านความยั่งยืนกับ Outsource ของจุฬาฯ
มหาวิทยาลัยขยายการดำเนินการนโยบายด้านการบริหารจัดการขยะให้ครอบคลุมถึงร้านค้า ซึ่งเป็น Outsource ผู้ให้บริการอาหาร (food service) ในโรงอาหารส่วนกลางของมหาวิทยาลัยด้วย โดยระบุในสัญญาร้านค้า ให้ปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ด้านการจัดการขยะ โดยต้องให้ความร่วมมือกับโครงการ Chula Zero Waste ที่มีเป้าหมายในการลดการก่อขยะ ส่งเสริมการแยกขยะนำกลับไปใช้ประโยชน์ และการปลูกฝังจิตสำนึกส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยให้แก่นิสิต คณาจารย์ บุคลากรจุฬาฯ
ความร่วมมือกับชุมชนเพื่อรักษาและเสริมสร้างระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์
ช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับท้องถิ่น เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับชุมชนช่วยกันรักษาและเพิ่มพูนระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ โดยเฉพาะระบบนิเวศในภาวะเสี่ยงอันเนื่องมาจากการพัฒนาเมืองในเขตภาคกลางของประเทศไทย