กรณีศึกษา

เข้าใจชุมชนคนรักช้าง สู่สถาปัตยกรรมเพื่อช้าง Elephant World จังหวัดสุรินทร์

“ชาวกูย” กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ด้านภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และ“ช้าง”ในจังหวัดสุรินทร์ที่เติบโตกันมาหลายร้อยปี เมื่อหาเลี้ยงทั้งช้างและปากท้องไม่พอ เนื่องจากพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งอาหารเดิมถูกทำให้กลายมาเป็นเมือง ยังไม่รวมภาวะปัญหาเศรษฐกิจ ควาญช้างจึงต้องพาช้างเร่ร่อนออกเดินทาง เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง เกิดเป็นภาพการทรมานช้างในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ส่งผลในแง่ลบกับการท่องเที่ยวไทย จึงเป็นที่มาของโครงการ “Elephant World” หรือ “โลกของช้าง” ที่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์

ที่มา: Spaceshift Studio

“Elephant World” เกิดขึ้นจากความตั้งใจให้พื้นที่เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางวิชาการ ผลักดันให้โลกของช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างแบบครบวงจร จากความร่วมมือของรัฐบาลจัดสรรงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ร่วมกับ งบส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ และเปิดใช้จริงในปี 2563

โดยมี ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิก Bangkok Project Studio ที่เชี่ยวชาญการทำงานสอดคล้องกับวิถีชุมชน และเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกแบบโครงการ นำทีมลงพื้นที่เพื่อศึกษา ทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่น ก่อนออกแบบ และดำเนินงานจริง “การลงพื้นที่สำคัญที่สุด ที่เราจะได้ข้อมูลจากความเป็นจริง แล้วนำข้อมูลมาโต้แย้งกันเพื่อให้คำตอบ และทำงานนั้นให้ครบวัตถุประสงค์มากที่สุด”

ที่มา: Spaceshift Studio

แนวคิดโดดเด่นของโครงการ “Elephant World” คือ “Non-Human Centered” ที่ไม่ได้มองมนุษย์เป็นศูนย์กลาง แต่มองสิ่งอื่นสำคัญเท่าเทียมกัน การออกแบบพื้นที่จึงให้ความสำคัญกับขนาดและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อช้าง ดังเห็นได้จาก “อาคารลานวัฒนธรรม”(Cultural courtyard) ลานนันทนาการของช้างขนาดใหญ่ ทั้งยังจำลองภูมิประเทศเนินที่ช้างคุ้นเคยในภาคอีสาน ในขณะที่ “Brick Tower” 5 ชั้น มีหน้าที่เป็นอาคารสำหรับชมโครงการในมุมกว้าง และเป็นหอที่ใช้โปรยเมล็ดลูกยางโดยอาศัยแรงลมและความสูงเพื่อปลูกป่าทดแทน

วัสดุเกือบทั้งหมดที่ใช้สร้างมาจากดิน โดยนำดินพื้นที่ต่างๆ มาปั้นเป็นอิฐ นำเงินงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนกลับคืนสู่ประชาชน ในรูปแบบรายได้จากการทำงาน ทั้งยังทำให้คนในชุมชนที่ไม่เคยลองทำได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการทำงาน นำไปสู่การสร้างแรงงานมีฝีมือ ก่อนเกิดเป็นกระบวนการทำงานช่วยสร้างรายได้ที่ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการต่อได้เอง หากมองภาพรวม ผศ.บุญเสริม เปรมธาดามีหลายผลงานที่นำวัสดุธรรมชาติมาขึ้นรูปอิฐ รวมถึงผลงานอิฐจากมูลช้างที่นำไปใช้จริงกับผลงาน Elephant Theatre ในงาน The Biennnale Architecture and Landscape of Versailles 2022 ที่แวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส และผลงาน The Elephant Dung Towers ในนิทรรศการ The 254th Summer Exhibition,The Royal Academy of Arts 2022 ในลอนดอน สหราชอาณาจักร

ที่มา: Spaceshift Studio

ในแง่มุมการประเมินผล เนื่องจากในปี 2563 ปีแรกที่เปิดใช้งาน เป็นช่วงเวลาเดียวกับสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 นอกจากความตั้งใจเดิมที่อยากให้ชาวกูยพาช้างกลับบ้าน “Elephant World” จึงยังได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ดูแลช้างอดอยาก ที่มีผู้ใจบุญมาร่วมบริจาคอาหารให้ช้าง ในช่วงขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว ส่วนในระดับสากลผลงานนี้ทำให้ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา เป็นที่จับตามอง ได้รับเชิญไปบรรยายในการประชุมระดับนานาชาติในประเด็น “Non-Human Centered” ที่สามารถเชื่อมโยงกับสถานการณ์ “Climate Change” ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลThe Royal Academy Dorfman Award 2019 จากราชบัณฑิตยสถานด้านศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร รวมถึงรางวัลศิลปาธรประจำปี พ.ศ. 2562 ในสาขาสถาปัตยกรรม และรางวัลThe Golden Madonnina 2021 of THE DESIGN PRIZE สาขา SOCIAL IMPACTจากCity of Milano,Italy

“คำว่า Sustainability ที่ผมทำเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ ธรรมชาติและวัฒนธรรม” สิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด มนุษย์ สัตว์ พืช ทุกสิ่งล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เป้าหมายของผมคือการรักษา “สมดุล” ด้วยการให้มนุษย์คืนพื้นที่ที่เคยรุกรานมานานนับศตวรรษกลับสู่พืชและสัตว์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในชนบทจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นให้พวกเขาสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากเราไม่พัฒนาในชนบท เราทุกคนก็ต้องย้ายเข้ามาทำงานในเมืองหลวง ต้องมาแออัดอยู่ในสลัม กลายเป็นปัญหาทั้งเรื่องการจราจร มลพิษทางสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางสังคม และปัญหาทางสุขภาพ นอกจากนี้ความหมายของความยั่งยืนยังผนวกรวมถึงวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม(Cultural environment)อันเป็นรากเหง้าที่จะทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ในวิถีชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง ทุกอย่างมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ในขณะที่เรากำลังเผชิญกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน (Climate change) ถึงเวลาหรือยังที่เราจะใช้ภาษา”Sustainability”เป็นภาษาร่วมกันเพื่อการเยียวยาโลกที่เราอยู่อาศัยนี้” กล่าวโดย ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา

ที่มา: Spaceshift Studio

ที่มา:

  • เรียบเรียงจากบันทึกสัมภาษณ์ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา และบทความจากสื่อที่เกี่ยวข้อง
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตามรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร้อยละ 31-33 ของประเทศไทยเป็นพื้นที่สีเขียว ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและปกป้องผืนป่าโดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) วางเป้าหมายในการขยายพื้นที่ป่าให้เป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ

จุฬาฯ ผนึกกำลังชุมชน ติวน้อง “ละอ่อนสารักษ์ป่าน่าน” ใช้ Google Earth Pro กู้ป่าชุมชนเสื่อมโทรม

สถานการณ์ป่าน่านเสื่อมโทรมเป็นปฐมเหตุให้ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง และสถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์ ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ต้องผนึกกำลังกันดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเพื่อวางแนวทางการพลิกฟื้นผืนป่าสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศป่าชุมชน “ไหล่น่าน”

โครงการ Organic Circle: นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร

การปลูกผักออแกนนิกนั้น ปัญหาที่สำคัญสุดคือทุกอย่างต้องเป็นอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นแปลงผัก น้ำที่ใช้รด และส่วนที่สำคัญอันหนึ่งคือปุ๋ยที่ต้องอินทรีย์ ยิ่งถ้าทำแปลงผักอินทรีย์ใหญ่เพื่อการส่งตลาด ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพดี ก็ต้องมีจำนวนมากพอ แต่ทำอย่างไรที่จะมีปุ๋ยอินทรีย์มากพอเพียงกับความต้องการ

อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ป่ากลางเมือง พื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

พื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองบนพื้นที่กว่า 29 ไร่ ของจุฬาฯ อันเกิดขึ้นจากนโยบายการสร้างเมือง GREEN & CLEAN CITY และเพื่อเป็นการตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนร่วม โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้เข้าใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน