กรณีศึกษา

CU Innovations for Society ภารกิจกู้วิกฤติโควิด-19 เพื่อคนไทย

ตั้งแต่ปลายปี 2019 เมื่อโลกถูกเขย่าอย่างรุนแรงด้วยเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดจนกลายเป็นโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” ปลุกให้ทุกประเทศต่างต้องออกมาตรการดูแลประชาชนของตนเอง ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงประเทศไทยที่มีมาตรการหลากหลายรูปแบบทั้งปิดเมือง ล็อกดาวน์ประเทศ ปิดสนามบิน กำหนดสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine & Local Quarantine) กำหนดเวลาเคอร์ฟิวเปิดปิดธุรกิจห้างร้าน รวมถึงมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ปรับตัวเข้มงวดและยืดหยุ่นระคนกันไปได้ผลดีมากน้อยแตกต่างกันตามสถานการณ์ระบาดแต่ละช่วง  โดยหากเจาะลึกลงมาเฉพาะประเทศไทยที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีในช่วงขวบปีแรกของการระบาดจนทั่วโลกต่างประสานเสียงชื่นชมคนไทย และ  Global COVID-19 Index (GCI) เคยยกให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 1 ของการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งสำรวจจาก 184 ประเทศมาแล้ว

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยก้าวมายืนหนึ่งเหนือคนทั้งโลกได้ในขณะนั้น นอกจากความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งของทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนแล้ว ต้องนับว่าเราโชคดีที่ได้นวัตกรรมจากกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ปวารณาตัวอาสาขอนำองค์ความรู้ที่มีมาปรับใช้บูรณาการให้สอดรับกับสถานการณ์เพื่อดูแลคนไทยอย่างสุดความสามารถ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเร่งพัฒนานวัตกรรมนำรับใช้ชาติกู้สถานการณ์โควิด-19 ดูแลคนไทยครบทุกมิติทั้งป้องกัน (Prevent) ปกป้อง (Protect) และรักษา (Cure) ด้วย “นวัตกรรมจุฬาฯ” ได้บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่พร้อมยกระดับสู่นวัตกรรมเชิงวันนี้เรามีสตาร์ทอัพสัญชาติจุฬาฯ แล้วกว่า 300 ทีม ช่วยแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ของประเทศอยู่ในขณะนี้ ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยได้แล้วกว่า 2 ล้านคนในพื้นที่ 52 จังหวัดทั่วประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 80 และยังสามารถต่อยอดขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย

เร่งจูนสตาร์ทอัพรับโควิด-19 ปั้น New Service Innovation

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดและใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์คัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมร่วมภารกิจโดยปรับแพลตฟอร์มที่ดำเนินการอยู่บูรณาการเป็นนวัตกรรมบริการ “Chula COVID-19 Strip Test Service : กระบวนการตรวจภูมิคุ้มกันแบบว่องไว” เปิดให้บริการ ณ ศูนย์บริการสุขภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสตาร์ทอัพ 6 ทีมรวมอยู่ในทุกขั้นตอนการให้บริการ อาทิ เป็ดไทยสู้ภัย, Dr.A-Z, RAKSA, QueQ เป็นต้น โดยมี Baiya COVID-19 Strip Test นวัตกรรมเรือธงที่ใช้ตรวจภูมิคุ้มกันว่องไวทราบผลตรวจได้ภายใน 10-15 นาที

ผลงานเด่นจากสตาร์ทอัพ “Baiya Phytopharm” ที่ปรับแพลตฟอร์มการผลิต Plant Based Gross Factor ให้เป็นนวัตกรรมรับมือโควิด-19 เพื่อคนไทยในทันทีที่ได้รับการส่งสัญญานให้ร่วมภารกิจนี้ และที่มากไปกว่านั้นนวัตกรรมชุดตรวจภูมิคุ้มกันแบบว่องไวนี้ยังถูกนำไปขยายผลเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในวงกว้าง (Actual-Use Research) ที่เอื้อประโยชน์ให้บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงโควิด-19 ระบาดทั้งช่วยลดความหนาแน่นของผู้มารับบริการ ณ สถานพยาบาล กระชับเวลาทราบผลตรวจ ลดความเสี่ยงติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตรวจ RT-PCR และยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แพทย์กล้ารักษาเฉพาะด้าน เช่น การผ่าตัดฉุกเฉิน การทำคลอด เป็นต้น

ขยายผลสู่ปัตตานีโมเดล

Chula COVID-19 Strip Test Service ไม่เพียงช่วยคัดกรองผู้ป่วยในเขตเมืองหลวงเพียงเท่านั้น แต่ชุดตรวจภูมิคุ้มกันแบบว่องไวของ Baiya Phytopharm ยังถูกส่งไปใช้ในถิ่นทุรกันดารชายแดนภาคใต้ที่มีความเสี่ยงสูงภายใต้โครงการ “ปัตตานีโมเดล” ช่วยให้การบริหารจัดการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐระดับจังหวัด (Local Quarantine) ชายแดนไทย-มาเลเซียมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้ประสานงานกับระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กระทรวงสาธารณสุขให้ช่วยเข้ามาติดตามผลจากผู้ที่เดินทางเข้ามาจากมาเลเซีย ดูแลด้านสุขภาพ ลดความทุกข์ทรมานจิตใจ ลดภาระงานในส่วนพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐระดับจังหวัดพร้อมประเมินสถานการณ์เพื่อนำไปสู่มาตรการคลายล็อกดาวน์ ซึ่งการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มของคนในพื้นที่นี้ยังถือเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่างคนไทยมากกว่า 10,000 คน เพื่อใช้ประเมินภาพรวมด้านประชากรศาสตร์ขนาดใหญ่ ดูแนวโน้มระดับภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับเชื้อ พร้อมศึกษาพฤติกรรมของโรคโควิด-19 และการแสดงออกของอาการจากโรค ก่อนขยายผลต่อยอดวิจัยพัฒนาวัคซีน ทั้งศึกษาปริมาณวัคซีนที่เหมาะสมต่อบุคคลที่ควรได้รับ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน จึงถือเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือทางไกลระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและจังหวัดปัตตานีที่อยู่ห่างไกลกันพันกิโลเมตร ในช่วงเวลากว่า 2 เดือน

ใช้หุ่นยนต์ช่วยเซฟหมอ

นอกจากนี้ จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ยังได้ส่งทีมสตาร์ทอัพสายหุ่นยนต์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในชุด “CU RoboCOVID” ทั้ง “น้องปิ่นโต” และ “น้องกระจก” นับร้อยตัวส่งเข้าประจำการช่วยเสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ให้บุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลำเลียงน้ำ อาหาร และยารักษาโรค ส่งให้ผู้ป่วยได้จากทางไกลได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ร่นระยะเวลาในการทำงาน ลดปริมาณการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ถุงมือ และหน้ากากอนามัย โดยส่งมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนานำไปจัดสรรมอบให้โรงพยาบาลในเครือข่ายกว่า 70 แห่งทั่วประเทศไทย

เสริมความแข็งแกร่งให้หน้ากากผ้า

โควิด-19 ยังได้สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไว้อย่างไม่น่าเชื่อจากปริมาณขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย สตาร์ทอัพจุฬาฯ “Nabsolute” จึงเร่งพัฒนานวัตกรรมสเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้าให้ทดแทนหน้ากากอนามัยที่กำลังขาดแคลนในขณะนั้น ช่วยป้องกันได้ทั้งเชื้อโรคโควิด-19 และฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไปได้พร้อมกันในการฉีดพ่นคราวเดียว ซึ่งต่อมานวัตกรรมนี้ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเทคโนโลยี Shield+ และจับมือกับ Tigerplast ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ รายใหญ่ของไทย เร่งผลิตป้อนตลาดช่วยเพิ่มทางเลือกและความมั่นใจในช่วงสถานการณ์ที่จำเป็นต้องพึ่งพาหน้ากากป้องกันตนเองของคนไทย

ก้าวต่อไปมุ่งหน้าผลิตวัคซีนเพื่อคนไทย

จากความสำเร็จของแพลตฟอร์มชุดตรวจโควิดว่องไว (Baiya Rapid Strip Test) ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้พัฒนาต่อยอดสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืช ด้วยกระบวนการผลิตโมเลกุลโปรตีนลูกผสม (recombinant protein) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของไวรัสที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ และนำไปทดสอบในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูขาวและลิง จนสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ และขยายผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ เฟส 1 แล้ว เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 และหากได้ผลดี ก็คาดว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องโควิด-19 ได้เองภายในประเทศตั้งแต้ต้นน้ำ หลังกลางปี 2565
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์จากการบ่มเพาะสตาร์ทอัพจนเกิดเป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมดูแลคนไทยโดยเฉพาะในยามยากจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 ที่ว่า “Innovations for society”

เสริมระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็งด้วย “กล่องรอดตาย” และระบบติดตามอาการผู้ป่วย Home Isolation

ช่วงกลางปี 2564 สถานการณ์การระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส ในประเทศไทยกลับมาแพร่กระจายในวงกว้างอีกครั้ง ส่งผลให้มียอดปริมาณผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ มากถึงวันละกว่าหมื่นราย  จนพบตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นเกินหนึ่งล้านคน  รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกมาตรการปิดเมืองในหลายพื้นที่  รวมถึงพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครด้วย อัตราการครองเตียงในหอผู้ป่วยทุกโรงพยาบาลเต็มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโรงพยาบาลสนามก็ไม่อาจรับผู้ติดเชื้อไว้ได้ จากปัญหานี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) จึงได้ร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่ายสตาร์ทอัพอย่าง Engine Life และ The Sharpener จัดทำชุด Home Isolation Kit หรือ “กล่องรอดตาย” เพื่อส่งมอบให้กับผู้ตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด19 กลุ่มสีเขียวที่จำต้องแยกกักตัวรักษาอยู่บ้านระหว่างรอเตียง

กล่องรอดตาย 1 ชุด ประกอบด้วยยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น 6 รายการ ประกอบด้วย ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาพาราเซตามอล ยาฟ้าทลายโจร หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบติดตามอาการผ่าน LINE Official เพื่อให้ผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกล่องรอดตายสามารถสื่อสารส่งค่าอุณหภูมิร่างกายและความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเพื่อใช้แสดงสถานะอาการป่วยขณะกักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้อาสาสมัครยังช่วยคอยแนะนำและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนซักถามติดตามอาการได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย  ปัจจุบัน กล่องรอดตายถูกส่งออกไปแล้วทั่วประเทศกว่า 20,000 กล่อง และผู้ใช้งาน LINE Official นี้แล้วกว่า 80,000 ราย

ข้าวแสนกล่อง

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมืองหลวงระลอกใหม่ทวีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิคุวานันท์ และเครือข่าย Food For Fighters ที่ได้รับการสนับสนุนาจาก UNDP จึงได้เปิดพื้นที่ตั้ง “ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ” ให้เป็นศูนย์กลางรับบริจาคจากผู้จิตศรัทธาและกระจายอาหารกล่อง และสิ่งของที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ชุมชนแออัด และกลุ่มพื้นที่เปราะบางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภายใต้แคมเปญ “ข้าวแสนกล่อง” โดยข้าวแต่ละกล่องจะมี QR Code ติดไว้ที่ฝากล่องข้าวเพื่อให้สแกนเข้าสู่ระบบสอบถามความต้องการขอรับความช่วยเหลือจากแต่ละครัวเรือน โดยเฉพาะการขอรับคำปรึกษาปัญหากฎหมายในระหว่างที่ต้องกักตัว นับเป็นอีกนวัตกรรมการบริการที่เข้าถึงและช่วยเยียวยาผู้ประสบภัยในช่วงโควิด โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม 2564 ศูนย์ได้รับข้าวกล่องและนำส่งให้ผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 540,000 กล่อง ในพื้นที่ 25 เขตในกรุงเทพมหานคร และอีก 7 จังหวัด 

ที่มา:

ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

บทความที่เกี่ยวข้องฉบับก่อนหน้า:

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

Park @ Siam พื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ ใจกลางเมืองเพื่อชุมชน

“Park @ Siam” พื้นที่สีเขียวใจกลางย่านการค้าสยามสแควร์ เป็นสวนสาธารณะแห่งเดียวในย่านการค้าที่มีชื่อเสียง ภายใต้การดูแลและบริหารจัดการโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)

กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสาธารณะตลอดปีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ด้วยความมุ่งมั่นให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้ จึงได้ดำเนินการจัดโครงการและกิจกรรมสาธารณะด้านวิชาการ การถ่ายทอดความรู้ และการฝึกอบรมสายอาชีพสำหรับประชาชนอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หลากหลายรูปแบบ ทั้ง onsite และ Online โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนเพื่อสังคม

โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ ของคณะ สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ในการดำเนินการ ซึ่งเน้นการถ่ายทอดนวัตกรรม องค์ความรู้ การบูรณาการการเรียนการสอนและการวิจัยออกสู่สังคม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของสังคมประเทศไทยสู่การพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ศิลปะบำบัด ปลดปล่อยความวิตกกังวลจากเหตุการณ์วิกฤต

หลายคนที่เคยประสบกับเหตุการณ์วิกฤตไม่ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเข้าบำบัดรักษาสุขภาพจิต เนื่องจากค่านิยมในสังคมเป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้ผู้คนที่ได้รับความบาดเจ็บทางอารมณ์จากเหตุการณ์รุนแรงไม่เข้ารับการบำบัด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีความเชื่อว่าการเข้ารับการบำบัดหมายถึงการเป็นคนบ้าหรือมีสภาพจิตใจที่อ่อนแอ การปรับทัศนคติในเรื่องนี้กับผู้คนในสังคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การบำบัดสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเป็นที่ยอมรับ