กรณีศึกษา

เปิดภารกิจเครือข่ายมหาวิทยาลัยผู้พิทักษ์ผืนป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง

ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิต (life supporting system) ที่เชื่อมโยงกันทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์หลากชนิด และยังมีคุณค่ากับมนุษย์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำยังจัดเป็นนิเวศบริการ (ecosystem services) ที่ส่งมอบนานาประโยชน์จากธรรมชาติสู่มนุษย์หลากหลายด้าน อาทิ แหล่งกักเก็บน้ำและชะลอการไหลของน้ำ กักเก็บธาตุอาหาร ดักจับสารพิษ ป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง เป็นแหล่งอนุบาลและแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของมนุษย์ เป็นเส้นทางคมนาคม ตลอดจนเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจ

สำหรับประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ราว 36,616.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,885,100 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด แบ่งเป็นพื้นที่น้ำจืดร้อยละ 44.8 และพื้นที่น้ำเค็มร้อยละ 55.2 ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมพัฒนาและบุกรุกในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากการเกษตร การประมง การขยายตัวของเมือง และการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว เฉกเช่นเดียวกับพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำโขง ที่แม้ว่าจะยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำเหลือแต่กำลังเผชิญกับความเสื่อมโทรมและไม่ได้รับความใส่ใจอนุรักษ์และจัดการอย่างเป็นระบบ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวในข้างต้น จึงแสวงหาแนวทางการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำแบบองค์รวมโดยร่วมลงนามในข้อตกลงก่อตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและฝึกอบรมด้านพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (The University Network for Wetland Research and Training in the Mekong Region) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยมีภาคีร่วมก่อตั้ง 8 มหาวิทยาลัย จาก 4 ประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, Can Tho University, Nong Lam University, National University – Ho Chi Minh, National University of Laos, Royal University of Agriculture และ Royal University of Phnom Penh เพื่อสร้างองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถให้นักวิจัยด้านพื้นที่ชุ่มน้ำรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาเป็นกำลังสำคัญต่อการพิทักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เสริมสร้างความเข้าใจ เล็งเห็นคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ และตระหนักถึงภัยคุกคามที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนของลุ่มน้ำโขงทั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเครือข่ายรวมกว่า 20 แห่ง และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ASEAN Regional Center for Biodiversity Conservation, International Crane Foundation, John D and Catherine T MacArthur Foundation, IUCN/UNDP/GEF Mekong Wetland Biodiversity Conservation Program, Rockefeller Foundation, USGS National Wetland Research Center และ Sustainable Mekong Research Network (Sumernet)

เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและฝึกอบรมด้านพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีภารกิจดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติร่วมกับภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมไปในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดวิธีการใช้เครื่องมือสำหรับบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำโดยเฉพาะพื้นที่ในสนธิสัญญาแรมซาร์ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มนํ้าอย่างยั่งยืน และได้แปลเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาไทย อาทิ แผ่นงานบันทึกข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Site Information Sheet) การประเมินบริการของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างรวดเร็ว (Rapid assessment of wetland ecosystem services) และเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่แรมซาร์ (Ramsar Site Management Effectiveness Tracking Tool : R-METT) ซึ่งช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้สร้างแนวทางการอนุรักษ์ ติดตามผล และประเมินประสิทธิภาพโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ล่าสุดของเครือข่ายฯ คือ โครงการ Train-the-trainers Training Course จัดขึ้น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม – 7 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่ประเทศเวียดนาม โดยตัวแทนมหาวิทยาลัยจาก 4 ประเทศ ทั้งไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ได้ร่วมกันเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อนำไปสู่การทำวิจัยระดับนานาชาติ เรื่อง “The role of wetlands in water security for the Mekong region” ศึกษาและติดตามข้อมูลด้านอุทกวิทยาของพื้นที่ชุ่มน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากบริการของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงสร้างเครื่องมือรูปแบบเกมและสถานการณ์จำลอง (gaming and simulation) เพื่อใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ในท้องถิ่น นำไปสู่การดำเนินกิจกรรมสำคัญด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำอีกโครงการหนึ่ง คือ “โครงการฝึกอบรมผู้บริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ชุ่มนํ้าในภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงตอนล่าง (Mekong WET)” ภายใต้การดูแลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่มีเป้าหมายช่วยสนับสนุนหน่วยงานในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ให้ดำเนินการตามพันธกรณีในอนุสัญญาแรมซาร์ (the Ramsar Convention)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้นำประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติกลับมาบูรณาการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชาปฏิบัติการชีววิทยา สำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 ด้วยเอกสารการประเมินบริการของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างรวดเร็ว โดยให้นิสิตทดลองเป็นผู้พิทักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำด้วยการประเมินบริการของระบบนิเวศในอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Centenary Park) ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้นิสิตนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการอุทยานเนื้อที่ 28 ไร่แห่งนี้ให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทางของสัญญาแรมซ่าร์

ที่มา:

คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

หลักสูตรความรู้และการจัดกิจกรรมรณรงค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเรื่องของผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน ทั้งในแง่ของการเกิดพิบัติภัยจากสภาพอากาศที่รุนแรงโดยตรง และภัยพิบัติอื่น ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ประชาคมโลกได้ทุ่มเทความพยายามอย่างมากในการแก้ไข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้

จุฬาฯ ต้าน COVID-19 ด้วยกลยุทธ์หลายมิติ; การวินิจฉัย การรักษา และการฉีดวัคซีน

ในช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนงานวิจัย การบริการ และนวัตกรรมมากมายแก่สังคมเพื่อฟื้นคืนสถานการณ์ที่ตึงเครียด ซึ่งรวมถึงวิธีการวินิจฉัย แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการดูแลผู้ป่วย (วอร์ดเสมือน) และงานด้านศูนย์บริการวัคซีน

โครงการออกกำลังกายอย่างปลอดภัยด้วยเทรนเนอร์ส่วนบุคคลและวิทยาศาสตร์การกีฬา อาสาปันสุข (สุขภาพกาย และสุขภาพใจ)

คนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บเพิ่มสูงขึ้น โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจและเล็งเห็นแนวโน้มมาตั้งแต่ปี 2558 พบความชุกของคนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ถึงร้อยละ 30.5 ภาวะอ้วน ร้อยละ 7.5 ภาวะการสูบบุหรี่ ร้อยละ 21.3 และการดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 36.2 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานและกลุ่มผู้สูงอายุที่ขาดการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ