กรณีศึกษา

Chula Art Town พัฒนาชุมชนใกล้ไกลด้วยศิลปะ

จากความสำเร็จของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้พลิกฟื้นชุมชนเก่าแก่รอบมหาวิทยาลัยย่าน “สวนหลวง-สามย่าน-สยามสแควร์” กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาด้วยสีสันแห่งงานศิลปะกราฟิตี้ในโครงการ Chula Art Town โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ (FAA) ที่ดึงศิลปินสตรีทอาร์ตชั้นนำร่วมกับนิสิตเก่าจุฬาและนักเรียนรอบรั้วมหาวิทยาลัยนับร้อยชีวิตมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ รังสรรค์งานศิลปะบนกำแพงอาคารสถานที่นับสิบจุด แปลงมุมอับ นำขยะจากชุมชนมาสร้างงานศิลปะให้กลับกลายเป็นทัศนียภาพใหม่ที่มีเสน่ห์ชวนมอง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางกรุงที่ดึงดูดเหล่าฮิปสเตอร์สายเช็กอินต้องห้ามพลาด ทำให้บทบาทผู้พัฒนาชุมชนด้วยศิลปะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฉายแววเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2563 ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้ช่วยพัฒนาสังคม สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้สู่ชุมชนนับล้านบาทต่อปี อาทิ 1) ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรถตุ๊กตุ๊กในพื้นที่มากกว่า 50 คน เพื่อเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำเที่ยว ณ แกลเลอรีอเนกประสงค์ของคณะ (ART4C) ที่ตั้งอยู่ในชุมชน 2) สร้างห้องเรียนกลางแจ้งเยียวยาผู้ป่วยเด็กอาการดาวน์ซินโดรมโดยใช้กำแพงแสดงผลงานศิลปะ และใช้อักษรเบรลล์ที่ออกแบบพิเศษเพื่อให้ผู้บกพร่องทางสายตาสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ 3) พัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันศิลปะและวัฒนธรรมกับเขตปทุมวันและชุมชนบ้านครัว สู่การจัดทำแผนที่เพื่อเที่ยวชมงานศิลปะและวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะร่วมสมัย วิถีชีวิตชุมชน และอาหารที่หลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านโปรแกรมที่จัดขึ้นจนได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างสรรค์ศิลปะท้องถิ่น (Pathumwan Art Routes; PARs) ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เพื่อนบ้านโดยรอบจะตอบรับการพัฒนาชุมชนด้วยศิลปะของมหาวิทยาลัย ทำให้งานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ Chula Art Town ยังได้พัฒนาเทคนิคการเสพศิลป์เชื่อมโยงโลก offline เข้าสู่โลกดิจิทัล โดยนำ QR Code เข้ามาใช้เพื่อระบุตำแหน่งบนแผนที่เสมือนจริงพร้อมจัดทำวีดิทัศน์บอกเล่าแรงบันดาลใจของศิลปินในแต่ละจุดผ่าน Smart Phone เพียงสแกน QR Code บนสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ  เพื่อเพิ่มอรรถรสให้ผู้รับชม แม้ในยามวิกฤตจนต้องปิดเมือง แต่การเสพศิลป์ในแบบฉบับ Chula Art Town ยังคงดำเนินต่อไปบน Digital Platform ที่ เปิดให้ผู้รับชมทั่วทุกมุมโลกท่องเที่ยวได้เสมือนจริงบน “Google Art & Culture” ด้วยเทคนิค Augmented Reality (AR)  โดยเป็น 1 ใน 5 นิทรรศการสำคัญที่ผ่านการคัดเลือกแล้วให้จัดแสดง กลายเป็นการแสดงผลงานศิลปะไร้พรมแดนและขีดจำกัด โดยมีผู้ชมในโลกออนไลน์แล้วกว่า 3,700 ครั้ง เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะสร้างแรงบันดาลใจและเยียวยาผู้คนในสังคมควบคู่กัน

ที่มา:    คณะศิลปกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

ธนาคารปูม้า เกาะสีชัง ต้นแบบศูนย์เรียนรู้เพิ่มทางรอดปูม้าไทยคืนสู่ท้องทะเลได้ถึงร้อยละ 60

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (2563) มีชาวประมงที่จับปูม้าที่ท้องนอกกระดองมาให้ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบก อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เป็นจำนวน 457 ตัว เพื่อเพาะเป็นลูกปูม้า ปรากฎว่าศูนย์สามารถดูแลปูไข่จนลูกปูม้าถึง 565,219,724 ตัว

อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ป่ากลางเมือง พื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

พื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองบนพื้นที่กว่า 29 ไร่ ของจุฬาฯ อันเกิดขึ้นจากนโยบายการสร้างเมือง GREEN & CLEAN CITY และเพื่อเป็นการตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนร่วม โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้เข้าใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

รูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพใจ ภายใต้แนวคิดชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ

ปัจจุบันประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 โดยปัญหาสุขภาพทั้งทางกาย และจิตใจ ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่งของผู้สูงอายุ ในด้านที่อยู่อาศัยพบว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 92.44 ต้องการที่จะอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยเดิม และต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ตามแนวคิด การสูงวัยในถิ่นเดิม (Aging in place) ปัจจัยสำคัญคือ ที่อยู่อาศัยต้องถูกออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีความเกี่ยวโยงกับชุมชนที่ต้องดำเนินการปรับสภาพแวดล้อมของชุมชนให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน

จุฬาฯ ชงแก้ปัญหาขยะทะเลจากบนบก เสนอรัฐคุมใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในบริการส่งอาหาร (Food Delivery)

ขยะพลาสติกจากธุรกิจส่งอาหารกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเมืองโดยเฉพาะหลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ห้ามให้ประชาชนออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ส่งผลให้ธุรกิจส่งอาหารเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกลับสร้างปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลตามมาอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดนั่นคือปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมีจำนวนมหาศาล และกลายเป็นขยะทันทีหลังบริโภค