กรณีศึกษา

“มายคอร์สวิลล์” ดิจิทัลแฟลตฟอร์มใหม่ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างจากมาตรการล็อกดาวน์เมืองยาวนานหลายเดือน ส่งผลกระทบโดยตรงให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในแทบทุกอุตสาหกรรมต้องชะงักงัน ไม่เพียงแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้นหากแต่ยังหมายรวมถึงกิจกรรมภาคประชาสังคมที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา มิอาจร่ำเรียนศึกษาหาความรู้ได้ดังที่เคย จึงจำเป็นต้องปรับแนวทางการดำเนินชีวิตใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และยังสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในสภาวะคับขัน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำนวัตกรรมที่มีอยู่ออกมาใช้เยียวยาสังคมเพื่อให้การเรียนรู้ของคนไทยไม่สะดุดหยุดชะงัก ด้วยแอปพลิเคชันจัดการเรียนการสอนออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “มายคอร์สวิลล์” ที่ถูกนำมาใช้เป็นนวัตกรรมสื่อกลางเพื่อจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหลายแห่ง เอื้อให้ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังคงจัดการเรียนการสอนได้ไม่ขาดตอน สามารถรับมือกับข้อจำกัดอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

จากความมุ่งหวังตั้งใจใฝ่พัฒนาศักยภาพของบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 ประกอบกับการวางรากฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับสังคมไทยและสังคมโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ใช้เวลาในทศวรรษนี้มุ่งปฏิรูปแนวคิดการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดิจิทัล และได้พัฒนา “มายคอร์สวิลล์” ให้เป็นนวัตกรรมบริการในรูปแบบแฟลตฟอร์มการเรียนรู้สนับสนุนผู้เรียนทั้งนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองต่อขยายครอบคลุมไปถึงสถาบันการศึกษาอื่นตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา เรื่อยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ให้เข้าถึงองค์ความรู้ ที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในเชิงระบบทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและใบอนุญาตแพลตฟอร์ม พร้อมเอื้อให้ผู้สอนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้เรียนได้ในปริมาณที่มากขึ้น และยังเป็นศูนย์กลางระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อให้ระบบสารสนเทศและแอปพลิเคชันทางการศึกษาต่าง ๆ สามารถต่อเชื่อมและทำงานร่วมกันได้แม้ว่าซอฟแวร์เหล่านั้นจะถูกรับผิดชอบจากหน่วยงานที่แตกต่างกันก็ตาม

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มนี้ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งนำไปสู่การใช้จัดการเรียนการสอนอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในเครือข่ายมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพและมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนการสอน (LMS) อย่างแอปพลิเคชัน “OnSmart.School” และแอปพลิเคชันคลังสื่อ “เป๋าเป้” ที่ถูกนำมาใช้จัดการเรียนการสอนออนไลน์ในโรงเรียน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม และโรงเรียนดอนบอสโกวิทยา อุดรธานี และพร้อมขยายผลการดำเนินงานไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ และยังรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนคนไทยอีกกว่า 3 แสนราย ซึ่งหากนับเฉพาะสถิติการลงทะเบียนเรียนในโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนที่จัดทำโดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chula MOOC พบว่ามีความต้องการเรียนในช่องทางนี้แล้วกว่า 9 แสนครั้ง ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้สถานศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยสามารถใช้แพลตฟอร์มเดียวกันนี้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน โดยมีสถิติผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มเฉลี่ย 13,000 รายต่อวัน และ 160,000 รายต่อเดือน ซึ่งมีปริมาณผู้เรียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่าปริมาณบัณฑิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยผลิตได้ต่อปีในรูปแบบเดิมถึง 20 เท่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขวบปีที่ผ่านมา

“มายคอร์สวิลล์” จึงเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การศึกษาไทยยังคงขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางสภาวะวิกฤติ เกิดประโยชน์เป็นผลพลอยได้ตกแก่ประชาชนคนไทยให้เข้าถึงองค์ความรู้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตามอัธยาศัย มีส่วนสนับสนุนให้เกิด “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ในสังคมไทย และปลุกคนไทยให้พร้อมรับมือกับวิวัฒนาการของการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล

ที่มา:    คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            สำนักบริหารวิชาการ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

โครงการจุฬาเวิร์ส: แพลตฟอร์มโลกเสมือนจริง เพื่อชุมชนวิถีใหม่อย่างยั่งยืน ด้วยกรณีใช้งานด้านการแพทย์ การศึกษาตลอดชีวิต และการพาณิชย์

แพลตฟอร์มจุฬาเวิร์ส ประกอบด้วยระบบสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และกรณีใช้งานในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต การแพทย์และการพาณิชย์ ซึ่งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ChulaVerse World (CV-World)  มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโจทย์ด้านการใช้ชีวิตและการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัย ได้มีการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อบนมาตรฐานที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ และการพัฒนากรณีใช้งานเพื่อส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในด้านทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การบริการด้านการแพทย์รูปแบบใหม่ และการพาณิชย์ที่เชื่อมโยงกับภาคเอกชน สำหรับด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ChulaVerse Learn (CV-Learn)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขยายกระบบการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นแนวคิดที่เน้นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เน้นทางด้านการเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ชีวิต ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งแตกต่างจากเรียนในระบบทั่วไป

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล: เปิดตัวหลักสูตรรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นปฏิบัติงานจริง

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดหลักสูตรใหม่ “สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (CEDT)” ในปีการศึกษา 2566 ที่เปิดรับนิสิตมากถึง 300 คนต่อปี เพื่อผลิตบัณฑิตมาเติมเต็มในตลาดแรงงานที่ยังคงขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัลเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตร Higher education sandbox ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน และเพิ่มทักษะในการลงมือปฏิบัติงานจริงแก่นิสิตจากการฝึกงานทุกปีตลอดการศึกษา

หลักสูตร “Quick MBA from Home” แพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบูรณาการ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังส่งผลต่อระบบการศึกษา เป็นเหตุให้จำเป็นต้องออกแบบหลักสูตรใหม่ให้ยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ต่อไปอย่างไม่หยุดชะงัก