นโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Photo by Cristian Guerrero on Unsplash
นโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องและสนับสนุน “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย ผ่าน 4 บทบาทหลัก คือ นโยบายและแนวทางปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Policy and Operation) วิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation) การเรียนการสอน (Teaching and Learning) และการเชื่อมโยงและสร้างความผูกพันกับสังคม (Outreach and Social Engagement)
เพื่อเป็นการป้องกัน ดูแล และเสริมสร้างสุขภาพอนามัยที่ดีให้แก่อาจารย์ นิสิต และบุคลากร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่มาปฏิบัติงานหรือร่วมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยให้ปลอดจากพิษภัยของบุหรี่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
ข้อ 1 ส่งเสริมให้พื้นที่และบริเวณทั้งหมดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ทั้งภายในภายนอกอาคาร และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่ สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของสถานที่ และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561
ข้อ 2 ห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ทุกประเภทตามที่มีการกำหนดในพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ในพื้นที่และบริเวณทั้งหมดของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงาน
ข้อ 3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานมีโครงการหรือกิจกรรมที่ช่วยรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ หรือประโยชน์ในการลด ละ เลิกการสูบบุหรี่
ข้อ 4 ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงาน อาจารย์ นิสิต และบุคลากร ร่วมมือกับหน่วยงาน ชุมชน สังคมภายนอกในการป้องกันและเฝ้าระวังการสูบบุหรี่ รวมทั้งสนับสนุนการป้องปรามการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมปลูกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมการไม่สูบบุหรี่ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
ข้อ 5 รณรงค์ให้หน่วยงาน อาจารย์ นิสิต และบุคลากร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่มาปฏิบัติงานหรือร่วมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ปฏิบัติตามนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของสังคม
ประกาศ ณ วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2567
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา
ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี ปฏิบัติการแทนอธิการบดี
ที่มา
- ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
จุฬาฯ ปลอดบุหรี่
จุฬาฯ จับมือ ก.สาธารณสุข แก้ปัญหาสิงห์อมควัน จัดเขตสูบบุหรี่คุ้มครองนิสิต-บุคลากร นำร่องปรับพฤติกรรมคนไทย
นโยบายด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มุ่งสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เป้าหมาย จึงได้กำหนดนโยบายด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต