กรณีศึกษา

จุฬาฯ กับนโยบายและการลงทุนเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

Net Zero​ Greenhouse Gas​ Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและมีการจัดการอย่างเร่งด่วน ตามมติการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 26 หรือ COP26 เมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) ที่สนับสนุนเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดจากสภาวะอากาศสุดโต่ง (Extreme weather events)

ในฐานะพลเมืองของประเทศและโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อส่วนรวมและต้องการลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง​ และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)​ อธิการบดี จุฬาฯ จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณะในเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี พ.ศ.2593 หรือ ค.ศ. 2050” และจุฬาฯ​ ยังได้จัดทำแผนและออกนโยบายมาตรการ รวมทั้งการลงทุนต่าง ๆ​ ในการลดใช้พลังงาน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดก๊าซ​เรือนกระจกอย่างจริงจังและเข้มข้นมากขึ้น เพื่อมุ่งหวังสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น [ https://www.chula.ac.th/en/highlight/116406/ ]

Chula’s 2050 Net-Zero Transition Strategies

จุฬาฯ ได้ออกแบบ 5 กลยุทธ์ Chula’ 2050 Net-Zero Transition เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว ประกอบด้วย

1. Energy Transition

จุฬาฯ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานแบบเดิม เป็นระบบการใช้พลังงาน​ทดแทนที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน​ (Zero-carbon Energy System) ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV development)

“จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยในเมือง จึงมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในฐานะพลังงานทดแทนจึงเหมาะกับบริบทของมหาวิทยาลัยที่สุดในปัจจุบัน”

จุฬาฯ​ ได้ลงนามข้อตกลงกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เพื่อดำเนินโครงการนำร่องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารต่าง ๆ​ (Solar Rooftop) ซึ่งมีแผนจะดำเนินการติดตั้งทั้งหมด 65 อาคารทั่วทั้งมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์​เซลล์​​ ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 ได้ติดตั้งและใช้งาน​แล้ว​ จำนวน​ 24​ อาคาร

“หากติดตั้งและใช้งานครบทุกอาคารแล้วจะสามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้า​ในจุฬาฯ​ ได้ถึง​ 25% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งมหาวิทยาลัย​” 

2. Improving Energy System Resilience

จุฬาฯ ​ดำเนินการตรวจสอบอายุการใช้งานและประเมินประสิทธิภาพ​อุปกรณ์​ไฟฟ้า เพื่อเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน​ในอาคารส่วนกลาง เช่น หลอดไฟ และเครื่องปรับอากาศ ทั้งยังมีการปรับปรุงระบบปรับอากาศภายในอาคาร โดยติดตั้งมอนิเตอร์เพื่อตรวจสอบความร้อนภายในระบบ และการใช้ระบบระบายอากาศ ระบบระบายความร้อน ตลอดจนมีการติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคารอัจฉริยะ CU BEMs (Building Energy Management) ​ในอาคารทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อใช้มอนิเตอร์ ควบคุมและสั่งการการใช้พลังงานในแต่ละอาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด​ ลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น โดยสามารถตรวจสอบ​และจำกัดการใช้พลังงานในแต่ละอาคารผ่านเว็บแอปพลิเคชัน​และ​ dashboard ที่รายงานข้อมูลการใช้พลังงานสูงสุด​ (Peak Load)​ และจำนวนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ​ซึ่งระบบนี้ออกแบบโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid Reseach Unit- SGRU) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว และกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน

3. Creating Green Growth

จุฬาฯ​ ได้สนับสนุนงานวิจัย​และความร่วมมือในระดับประเทศและนานาชาติ รวมไปถึงการลงทุนสีเขียว เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไร้คาร์บอน โดยศูนย์ Bio-Circular-Green economy Technology & Engineering Center คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจอุตสาหกรรม และองค์กรสาธารณะ จัดตั้งความร่วมมือในนาม Thailand CCUS Consortium เพื่อวางแผน วิจัย พัฒนาการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการนำเอา CO2 ที่เดิมถูกมองว่าเป็นมลพิษ มาแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ สร้างมูลค่าทางด้านการพาณิชย์และยังช่วยขจัดมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อม

       อีกทั้ง นักวิจัย​ จุฬาฯ​ ได้แปลงคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเมทานอลโดยใช้พลังงานน้อยแต่ได้ผลมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยการแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (Carbon Dioxide (CO2) Conversion to Higher-Valued Products) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัย “Research Cess Fund” (RCF) จาก Malaysia-Thai Joint Authority (MTJA) ในระดับนานาชาติ​          และที่ผ่านมา​ จุฬาฯ​ ให้ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน (Energy Transition) และพลังงานสะอาดมากขึ้น​​ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์​ จุฬา​ฯ​ ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับบริษัท​ Hitachi Energy เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา การวิจัยพัฒนาและการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี ในประเด็นที่เกี่ยวกับพลังงาน อาทิ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไมโครกริด (Microgrid) ระบบผลิตไฟฟ้า​และบริหารจัดการไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับชุมชน​ โดยใช้พลังงานทดแทนเป็นหลัก ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (e-Mobility) ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาด และศึกษาอนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Future) มาตั้งแต่ในปี​ พ.ศ. 2565

4. Lifestyle Transition

จุฬาฯ​ ​ได้ดำเนินการจัดหารถโดยสาร​ระบบไฟฟ้า รวมถึงตัวเลือกในการเดินทางที่ปล่อย​คาร์บอนน้อย​ (Low Carbon Transportation) เช่น จักรยาน รถตุ๊กๆ ไฟฟ้า​ สกู๊ตเตอร์​ไฟฟ้า มาให้บริการกับนิสิตและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ​[ http://www.sustainability.chula.ac.th/report/3118/ ] อีกทั้งยังมีการปรับปรุงทางเดินมีหลังคา หรือ Cover way เชื่อมต่ออาคารต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคคลทั้งภายในและภายนอกที่เข้ามาติดต่องานภายในมหาวิทยาลัยสามารถเดินทางด้วยเท้าได้ทั่วทั้งพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย [ http://www.green.chula.ac.th/index.php/transportation/cu-cover-way-sky-walk/ ]

5. Social Transition & Support System

เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมจุฬาฯ​ อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจก​ภายในมหาวิทยาลัย จุฬาฯ มีแผนเดินหน้าจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ​ อาทิ เวทีเสวนา โครงการประกวดคลิปสั้นและการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างนิสิตและบุคลากรผ่านช่องทางสื่อออนไลน์อีกด้วย​ เพื่อให้ประชาคมจุฬาฯ​ ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึก​ เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

ที่มา

  • สำนักบริหารระบบกายภาพ
  • สำนักงานจัดการทรัพย์สิน
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์

อื่นๆ

จุดบริการน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย และฟรีทั่วทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำหรับทุก ๆ คน

ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีจุดบริการน้ำดื่มฟรีกว่า 130 จุด ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อบริการให้กับนิสิตและบุคลากร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อ เยี่ยมชม หรือใช้บริการหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยจุดบริการน้ำดื่มนอกจากฟรีแล้ว แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยมีการดูแลความสะอาด ปลอดภัย และมีการดูแลบำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ

การส่งเสริมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านน้ำสะอาดและสุขาภิบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการจัดทำโครงการและดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อาจารย์ นิสิต และบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญและรู้จักใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

การพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯ อย่างยั่งยืน ฟื้นฟูสวนหลวง-สามย่าน BLOCK 33 : Residential & Wellness

โครงการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่สวนหลวง-สามย่านสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและอาคารเขียว โดยใช้แนวความคิดจากการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว สร้างความเป็นชีวิต (Life Style) สร้างที่พักอาศัยคุณภาพ (Live Style) จนก่อเกิดพื้นที่เรียนรู้ (Learning Style) มุ่งเน้นการออกแบบก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

งานบริการที่พักนิสิต อำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ คู่การสร้างพลเมืองที่ดี

หนึ่งในงานบริการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างหอพักสำหรับนิสิต เพื่อเป็นที่พักอาศัยอำนวยความสะดวกสบายเพื่อไม่ต้องเดินทางไกลสำหรับนิสิตผู้ที่มีความจำเป็นเพื่อเป็นที่พักอาศัย ตามวิสัยทัศน์ “เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และผาสุก”