ความร่วมมือจุฬาฯ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ (Affordable Housing for Police Officers)
พื้นที่สามย่านสมาร์ทซิตี้ในการดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นพื้นที่ที่อยู่ใจกลางเมือง ทั้งพื้นที่ในส่วนการศึกษา ย่านพาณิชย์ และชุมชนโดยรอบพื้นที่ ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชาชนจำนวนมาก ทั้งนักเรียน นิสิต บุคลากร ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้อยู่อาศัย โดยหลักในการพัฒนาพื้นที่ “สามย่านสมาร์ทซิตี้” มีวิสัยทัศน์ที่คำนึงถึงคนเป็นสำคัญ (people centric) ที่จะส่งเสริมให้เกิดเป็นย่านนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม อีกทั้งผสานพัฒนาคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยอย่างยั่งยืน ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของข้าราชการตำรวจ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อชุมชน โดยในช่วงเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร. จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พลตำรวจโท สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการออกแบบก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ณ บริเวณซอยจุฬาฯ 9 ตัดซอยจุฬาฯ 12 (หมอน 46) จากอาคารที่อยู่อาศัยเดิมที่มีสภาพเก่าและทรุดโทรม โดยออกแบบเป็นอาคาร 24 ชั้น จำนวนห้องพัก 240 ห้อง ที่สร้างให้โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ https://pmcu.co.th/?p=25466 ] ซึ่งในการก่อสร้างใช้มาตรฐานการก่อสร้างอาคารตามที่กฎหมายกำหนด และมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ก่อนการเริ่มก่อสร้างด้วย ทั้งนี้ เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ข้าราชการตำรวจสามารถอยู่อาศัยได้ในราคาค่าเช่าที่ไม่แพง (affordable housing) สัดส่วนเหมาะสมกับรายได้และค่าครองชีพในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ นับเป็นการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่สู่คุณภาพการดำรงชีวิตที่ดีของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
ที่มา:
- สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อื่นๆ
จาก “ละอ่อนสา-รักษ์ป่า-น่าน” ถึง “ละอ่อนน่านเรียน-รู้-รักษ์ป่า” ใช้ Google Earth Pro เพื่ออนุรักษ์ป่าชุมชน
ด้วยเหตุความเสื่อมโทรมของป่าน่าน ทำให้เกิดโอกาสแห่งร่วมมือระหว่างศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค (CLNR) จุฬาฯ และสถาบันวิจัยปรับปรุงพันธุกรรมสัตวบาล ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดน่าน เพื่อวางแนวทางการปลูกป่าและสร้างความสมดุลในระบบนิเวศของป่าชุมชน “ไหล่น่าน”
CU Innovations for Society ภารกิจกู้วิกฤติโควิด-19 เพื่อคนไทย
“นวัตกรรมจุฬาฯ” รับใช้ชาติกู้สถานการณ์โควิด-19 ดูแลคนไทยครบทุกมิติทั้งป้องกัน (Prevent) ปกป้อง (Protect) และรักษา (Cure) ช่วยแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ทั้งยังสามารถต่อยอดขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย
อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ป่ากลางเมือง พื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้
พื้นที่กว่า 29 ไร่ ของจุฬาฯ อันเกิดขึ้นจากนโยบายการสร้างเมือง GREEN & CLEAN CITY และเพื่อเป็นการตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนร่วม
Park @ Siam พื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ ใจกลางเมืองเพื่อชุมชน
“Park @ Siam” พื้นที่สีเขียวใจกลางย่านการค้าสยามสแควร์ เป็นสวนสาธารณะแห่งเดียวในย่านการค้าที่มีชื่อเสียง ภายใต้การดูแลและบริหารจัดการโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)