กรณีศึกษา

ฟาร์มโคนมไทยเฮ! จุฬาฯ ตั้งศูนย์วิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับนมไทยยืนหนึ่งในอาเซียน

ในปี 2563 ประเทศไทย มีกำลังการผลิตน้ํานมดิบจากแม่โคนมในประเทศได้ราว 3,500 ตัน/วัน จากแม่โคทั่วประเทศ ประมาณ 310,000 ตัว โดยมีแหล่งผลิตน้ำนมดิบที่สำคัญอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา สระบุรี ลพบุรี เชียงใหม่ ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยแบ่งสัดส่วนการใช้น้ํานมดิบ นมโรงเรียน : นมพาณิชย์ เท่ากับ 30 : 70 โดยน้ำนมดิบที่เกษตรกรขายได้ในตลาดช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 18.50 บาท/กิโลกรัม โดยแม่โคนมไทยได้รับความนิยมจากประเทศคู่ค้าในสมาชิกอาเซียนและต้องการนำเข้าแม่โคนมจากไทยเพราะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดี จึงทำให้ไทยสามารถส่งออกแม่โคนมได้ 840 ตัวต่อปี ในขณะที่คู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคอาเซียนคือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์นมเข้ามาจำหน่าย และยังขยายฐานการผลิตเข้ามาแข่งขันตีตลาดของไทย

กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจปศุสัตว์ ได้ศึกษาและเผยถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคปัจจัยที่มีผลต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมโคนมไทย โดยมุ่งเป้าไปที่ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ต้นทุนการผลิตน้ํานมของเกษตรกรไทยสูงเนื่องจากอาหารโคนมทั้งอาหารข้น และอาหารหยาบมีปริมาณไม่เพียงพอ และคุณภาพยังไม่เหมาะสม 2) การขนส่งน้ํานมของเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายสูง และมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ํานม และ 3) ภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด19 ส่งผลกระทบต่อการบริโภคผลิตภัณฑ์นม

ด้วยมูลเหตุเหล่านี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างการผลิตนมและส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับโคนมภายในประเทศ จึงถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี จัดตั้งศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สนับสนุนทุนวิจัยทุนวิจัยพัฒนาพื้นที่ และหน่วยงานเอกชน ได้แก่ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด สหกรณ์และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 5 แห่ง ผนึกกำลังกันเป็นภาคีเครือข่ายแห่งการพัฒนาเพื่อบูรณาการและถ่ายทอดองค์ความรู้จากนักวิชาการ รวมถึงนวัตกรรมที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้พัฒนาการเลี้ยงโคนมอย่างยั่งยืน

ด้วยความพร้อมทั้งด้านวิชาการ งานวิจัย ห้องปฎิบัติการด้านสุขภาพสัตว์ คุณภาพน้ำนม และคุณภาพอาหารสัตว์ รวมทั้งยังมีหน่วยบริการวิชาการด้านโคนมในพื้นที่สระบุรี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินโครงการ “การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มโคนมโดยใช้นวัตกรรมบริการสัตวแพทย์” ขึ้น เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ สัตวแพทย์ และองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงศักยภาพและประสิทธิภาพของเกษตกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมหนาแน่นที่สุดในประเทศไทยให้พร้อมปรับตัวรับกับความท้าทายและก้าวข้ามอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพน้ำนมดิบ ด้วยกระบวนการบริหารจัดการองค์ความรู้จากสถานการณ์จริงในพื้นที่ และถ่ายทอดบทเรียน เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการเกษตรโดยปรับเปลี่ยนระบบการผลิตแบบดั้งเดิมสู่การเป็น “Smart Farming” ทำให้ชุมชนเกษตรมีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น  และยังเกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และพัฒนาเกษตรกรรมให้เป็นต้นแบบ “นวัตกรรมบริการสัตวแพทย์โคนมในชุมชน” เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มโคนม

โครงการได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบจำนวน 6 ฟาร์ม จากองค์กรเกษตรกรทั้งหมด 5 องค์กร เป็นสหกรณ์โคนม 2 แห่ง ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเอกชน 3 แห่งในจังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา โดยพิจารณาจากความสนใจเข้าร่วมโครงการและยินดีให้ความร่วมมือ เกษตรกรทั้ง 6 ฟาร์มจะได้รับการบริการทางสัตวแพทย์จากคลินิกโคนมเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์ม แก้ปัญหาด้านสมรรถภาพการสืบพันธุ์ของโคนม เฝ้าระวังโรคเต้านมอักเสบ ติดตามการดื้อยาของเชื้อที่เป็นสาเหตุ พัฒนาสุขภาพเต้านมและคุณภาพน้ำนม รวมถึงการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารสัตว์เพื่อการปรับปรุงการจัดการอาหารสัตว์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นำองค์ความรู้จากการวิจัยมาแก้ปัญหาผลกระทบของความเครียดจากความร้อนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์ม

ทั้งนี้ เกษตรกรยังจะได้เรียนรู้การบันทึกขัอมูลต่าง ๆ ของฟาร์มลงในฐานข้อมูลที่คณาจารย์พัฒนาขึ้น ทำให้สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ และผลตรวจจากห้องปฏิบัติการมาใช้ติดตามสุขภาพของโคนมในฟาร์ม รวมทั้งใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของฟาร์ม เกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากนักวิชาการผ่านการรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือน และยังได้รับการสนับสนุนงานด้านพัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจากองค์กรเกษตรกรทั้งสหกรณ์โคนม และศูนย์รวบรวมน้ำดิบจะได้รับการพัฒนาจากการทำงานร่วมกับนักวิชาการ ทำให้โครงการได้รับการขยายผลออกไปสู่เกษตรกรในวงกว้างขึ้น  ผู้ประกอบการจะได้รับน้ำนมดิบที่มีคูณภาพสูงขึ้น ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์นมแปรรูปเพื่อการส่งออก  มีฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเอกชนและสหกรณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ทั้งในจังหวัดสระบุรี นครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเกษตรกรช่วยให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว พร้อมที่จะพัฒนาสู่ฟาร์มอัจฉริยะต้นแบบการเรียนรู้ Precision Dairy Farming ของชุมชนตนเองและประเทศไทย

ที่มา:

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความที่เกี่ยวข้องฉบับก่อนหน้า:

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

CU Innovations for Society ภารกิจกู้วิกฤติโควิด-19 เพื่อคนไทย

เมื่อโลกถูกเขย่าอย่างรุนแรงด้วยเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดกลายเป็นโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” ปลุกให้หลายประเทศจำเป็นต้องลุกขึ้นมารับมือกับโรคร้ายนี้เพื่อดูแลประชาชนคนในชาติของตนรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและการรับรู้ผลกระทบจากโรคโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19): การสำรวจระดับนานาชาติ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ทั่วโลกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่ไวรัสก็ยังกลายพันธุ์ได้อยู่ และยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ดังนั้นการหาข้อมูลหรือการเก็บข้อมูลที่จะเก็บประเด็นผลกระทบต่างๆจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลในวงกว้างระดับภูมิภาค จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในภาคีเครือขายของ  Association of Pacific Rim Universities (APRU) ในหน่วย Global Health Program ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 60 มหาวิทยาลัย จาก 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้มีการทำโครงการสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและการรับรู้ผลกระทบจากโรคโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19) ขึ้น

รื้อถอนแท่นปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยอย่างไร ให้ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลไทยยังคงอยู่

เร่งสร้างองค์ความรู้ให้เพียงพอและพร้อมใช้นำมาบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลนอกชายฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะในกระบวนการวางแผนหาแนวทางที่เหมาะสม และตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับกิจกรรมการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในอ่าวไทย

บางโพลีฟวิ่งแล็บ: โครงการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ผ่านการวางแผนการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนถนนสายไม้บางโพ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการวิจัย Bang Pho Living Lab ได้รับทุนสนับสนุนจาก ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชนถนนสายไม้ ย่านบางโพให้กลับมาเป็นที่รู้จักและส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชน ผ่านการสร้างพื้นที่ร่วมทดลองปฏิบัติการจริง โดยนิสิต 266 คน