Center of SHE คุมเข้มความปลอดภัยแล็บจุฬาฯ นับพันด้วย “ChemTrack & WasteTrack 2016
ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการมีความสำคัญอย่างมากในมหาวิทยาลัย ไม่มีใครอยากประสบอุบัติเหตุ ได้รับอันตรายจากสารเคมีที่สะสมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว การปลูกฝังให้นิสิตผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยมีจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานก่อนจะจบออกไปประกอบวิชาชีพในการทำงานในหน่วยงานต่างๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีห้องปฏิบัติการหรือห้อง Lab มากกว่า 1,000 ห้อง จึงดำเนินการด้านระบบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการและการกำจัดสารเคมี ของเสียอันตรายอย่างถูกวิธีมากว่า 20 ปี
การประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 675 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2549 ได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนพัฒนาด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย และได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการดำเนินงานด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 18 กันยายน 2549 และ คณะกรรมการบริหารด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 28 กันยายน 2549 โดยมอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตรายเป็นหน่วยงานหลักกำกับดูแลตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 พร้อมทั้งพัฒนาโปรแกรมการจัดการสารเคมี “ChemTrack2009” และโปรแกรมการจัดการของเสียสารเคมี “WasteTrack2009”
ต่อมาในเดือนตุลาคมปี 2559 จึงได้รวมโปรแกรมดังกล่าวเข้าด้วยกันพัฒนาเป็น “โปรแกรมการจัดการข้อมูลสารเคมีและของเสียสารเคมี (ChemTrack & WasteTrack2016)” นอกจากนี้ ในการประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 797 ยังได้มีมติจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) (Center for Safty, Health and Environment of Chulaloingkorn University) ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม และดูแลโปรแกรม ChemTrack & WasteTrack 2016 อย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ Center of SHE ยังได้จัดทำคู่มือการใช้โปรแกรมการจัดการข้อมูลสารเคมีและของเสียสารเคมี (ChemTrack & WasteTrack 2016) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งานอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ โดยแสดงวิธีการใช้งานโปรแกรมตามวัตถุประสงค์ การจัดการข้อมูลสารเคมีและการจัดการข้อมูลของเสียสารเคมีรวมไปถึงการเรียกดูรายงานต่าง ๆ และยังเปิดกว้างให้ผู้ใช้งานทั้งนิสิตและเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาทั้งโปรแกรมและคู่มือการใช้โดยติดต่อได้ที่ E-mail : chemtrack@chula.ac.th หรือศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมายเลขโทรศัพท์ 02-218-5213 [https://www.shecu.chula.ac.th/home/ ]
ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ เปิดเผยว่า เป้าหมายที่ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ พยายามสร้างก็คือทัศนคติที่ดีในเรื่องความปลอดภัย ทำให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในจุฬาฯ
“ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ เป็นหน่วยงานระดับศูนย์ที่ทำหน้าที่ด้านระบบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการเป็นแห่งที่สามของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แบ่งการทำงานเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ทำงานวิชาการ และกลุ่มที่ดูแลเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย กลุ่มที่ทำงานวิชาการ จะทำหน้าที่พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ “พื้นฐานความปลอดภัยทั่วไป” เนื้อหาการอบรมเกี่ยวข้องกับเรื่องพื้นฐานความปลอดภัย ทุกคนสามารถเรียนได้ เป็นการปรับพฤติกรรมและจิตสำนึกของคนในเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดเฉพาะในห้อง Lab เท่านั้น ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่จะต้องทำงานในห้อง Lab เคมี ชีววิทยา จะต้องผ่านการอบรมและได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากศูนย์ฯ ด้วยเช่นกัน โดยจะเรียนผ่านทางระบบออนไลน์ ในขณะเดียวกัน ยังมีหลักสูตรการอบรมเรื่องความปลอดภัยในระดับที่สูงขึ้นสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 4 หรือระดับบัณฑิตศึกษา เปิดการอบรมตลอดทั้งปี รวมทั้งจัดการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับผู้บริหาร หัวหน้างานในห้อง Lab และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ในส่วนของกลุ่มที่ดูแลด้านความปลอดภัย จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านสารเคมี เชื้อโรค รังสี ฯลฯ นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังทำหน้าที่รับแจ้งเหตุที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอันตรายและถอดบทเรียนออกมา นำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยมีระบบการแจ้งความไม่ปลอดภัยในห้องปฏิบัติการไปยังคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ในจุฬาฯ ด้วย”
ที่มา:
ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
อื่นๆ
การพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯ อย่างยั่งยืน ฟื้นฟูสวนหลวง-สามย่าน BLOCK 33 : Residential & Wellness
โครงการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่สวนหลวง-สามย่านสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและอาคารเขียว โดยใช้แนวความคิดจากการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว สร้างความเป็นชีวิต (Life Style) สร้างที่พักอาศัยคุณภาพ (Live Style) จนก่อเกิดพื้นที่เรียนรู้ (Learning Style) มุ่งเน้นการออกแบบก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“อาคารเขียว” กับ การพัฒนาอาคารใหม่อย่างยั่งยืนของจุฬาฯ
การพัฒนาพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัจจุบันที่มีความสำคัญในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริบทที่มีความเกี่ยวข้องกับความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate change) ซึ่งมีผลมาจากกิจกรรมหรือการใช้ทรัพยากรที่เกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทางกายภาพภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การดำเนินการนโยบายด้านความยั่งยืนกับ Outsource ของจุฬาฯ
มหาวิทยาลัยขยายการดำเนินการนโยบายด้านการบริหารจัดการขยะให้ครอบคลุมถึงร้านค้า ซึ่งเป็น Outsource ผู้ให้บริการอาหาร (food service) ในโรงอาหารส่วนกลางของมหาวิทยาลัยด้วย โดยระบุในสัญญาร้านค้า ให้ปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ด้านการจัดการขยะ โดยต้องให้ความร่วมมือกับโครงการ Chula Zero Waste ที่มีเป้าหมายในการลดการก่อขยะ ส่งเสริมการแยกขยะนำกลับไปใช้ประโยชน์ และการปลูกฝังจิตสำนึกส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยให้แก่นิสิต คณาจารย์ บุคลากรจุฬาฯ
สุขภาพดีถ้วนหน้า จุฬาฯ จัดให้
จุฬาฯ จัดพื้นที่ออกกำลังกายเพื่อให้กับนิสิต บุคลากรและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงพื้นที่ออกกำลังกายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามนโยบายของจุฬาฯ ที่มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพประชาชน แก้ปัญหากิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ