กฎและข้อบังคับ

นโยบายการบริหารจัดการขยะเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นโยบายการบริหารจัดการขยะเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องและสนับสนุน “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย ผ่าน 4 บทบาทหลัก คือ นโยบายและแนวทางปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Policy and Operation) วิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation) การเรียนการสอน (Teaching and Learning) และการเชื่อมโยงและสร้างความผูกพันกับสังคม (Outreach and Social Engagement)  

เพื่อสนับสนุนการจัดการขยะและของเสียทุกประเภทที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นตามมาตรฐานและความปลอดภัยสากล รวมทั้งเป็นการสร้างเสริมจิตสำนึกในการลดและคัดแยกขยะให้กับประชาคมจุฬาฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหามลพิษทั้งในระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการขยะเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้

ข้อ 1 ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง เพื่อให้เกิดการดำเนินการในลักษณะบูรณาการและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อ 2 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานมีการคัดแยกขยะและมีภาชนะรองรับขยะแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง รวมทั้งต้องมีการวัดปริมาณขยะและของเสียทั้งหมด พร้อมแยกส่วนที่ส่งไปยังหลุมฝังกลบและส่วนนำกลับมาใช้ใหม่ และมีการบันทึกข้อมูลปริมาณขยะแต่ละประเภท เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับใช้ในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อ 3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานดำเนินการจัดการขยะมูลฝอย ขยะพิษ ขยะอินทรีย์ ขยะพลาสติก และขยะอื่น ๆ ตามแนวทางการจัดการขยะที่มหาวิทยาลัยกำหนดที่สอดคล้องตามมาตรฐานและความปลอดภัยสากล

ข้อ 4 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานลดปริมาณการเกิดขยะและคัดแยกขยะ ตามหลักการ 3Rs ประกอบไปด้วย การลดการใช้ทรัพยากรและลดการเกิดขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำและใช้ให้คุ้มค่า (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยมีเป้าหมายการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยให้มีปริมาณสัดส่วนขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ภายในปี พ.ศ. 2570

ข้อ 5 ส่งเสริมให้หน่วยงาน อาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัย ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) เช่น ถุงพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก กล่องโฟม และเปลี่ยนมาเลือกใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการจัดการขยะที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ข้อ 6 ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงาน อาจารย์ นิสิต และบุคลากรในการเลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน มีความแข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานได้ยาวนาน สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้า กระบอกน้ำ สเตนเลส ช้อนส้อมสเตนเลส ภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อเป็นการช่วยลดการใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก

ข้อ 7 ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานต้องมีการคัดแยกและรวบรวมขยะและของเสียอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนนำไปจัดการหรือดำเนินการกำจัดตามมาตรฐานและความปลอดภัยสากล

ข้อ 8 ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานที่มีห้องปฏิบัติการที่มีขยะ สารเคมี และวัสดุอันตรายต้องมีการบำบัดของเสียอันตรายให้อยู่ในระดับตามมาตรฐานและความปลอดภัยสากลกำหนดก่อนปล่อยสู่ระบบสุขาภิบาล หรือส่งให้บริษัทที่รับจัดการของเสียอันตรายนำไปกำจัดต่อไป

ข้อ 9 ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานมีหน้าที่ต้องจัดการหรือดำเนินการบำบัดของเสียที่เป็นของเหลวและน้ำเสียที่เกิดจากหน่วยงาน เพื่อเป็นการลดการเกิดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ

ข้อ 10 ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานส่งเสริมการสอน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อการจัดการขยะประเภทต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน จนสามารถเป็นต้นแบบการจัดการขยะและขยายผลไปยังชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ข้อ 11 ส่งเสริมให้หน่วยงานมีโครงการ/กิจกรรมที่ช่วยรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการลดและคัดแยกขยะ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร            

ข้อ 12 สนับสนุนให้ทุกหน่วยงาน อาจารย์ นิสิต และบุคลากร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่มาปฏิบัติงานหรือร่วมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยปฏิบัติตามนโยบายการบริหารจัดการขยะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประกาศ ณ วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา
ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี ปฏิบัติการแทนอธิการบดี

ที่มา

สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย