กฎและข้อบังคับ

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการบริหารจัดการขยะและขยะอันตราย พ.ศ. ๒๕๖๕

โดยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนและตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคทรัพยากรและการจัดการขยะอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบในการจัดการขยะเหลือศูนย์ (zero waste management) จึงเห็นสมควรให้มีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตราย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๗ และมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิการบดีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ในการพิจารณาโดยมติเวียน เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ จึงให้ยกเลิกประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตราย พ.ศ. ๒๕๖๐ ฉบับลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้มีการประกาศไว้ดังนี้

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตราย พ.ศ. ๒๕๖๕”

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานมีการบริหารจัดการและพัฒนาระบบการจัดการขยะครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาคมจุฬาฯ ซึ่งประกอบด้วย นิสิต ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการดำเนินการในลักษณะบูรณาการและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อ ๔ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานลดปริมาณการเกิดขยะและคัดแยกขยะ ตามหลักการ ๓Rs ได้แก่ การลดการใช้ทรัพยากรและลดการเกิดขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำและใช้ให้คุ้มค่า (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

ข้อ ๕ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานสนับสนุนให้ประชาคมจุฬาฯ และผู้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย หรือส่วนงานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนทั้งทางบกและทางทะเล ผ่านการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) โดยเลือกใช้วัสดุ วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ข้อ ๖ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงาน จัดให้มีการจัดการคัดแยก จัดการขยะและนำขยะมาใช้ประโยชน์ โดยกำหนดประเภทขยะภายในมหาวิทยาลัยเป็น ๕ ประเภท

(๑) ประเภทที่ ๑ ขยะอาหาร แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

(ก) ส่วนที่ ๑ ขยะอาหารจากผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งเป็นเศษผักและเปลือกผลไม้ ในส่วนนี้นำเข้าเครื่องแปลงขยะชีวมวลเพื่อเปลี่ยนเป็นสารชีวภาพปรับปรุงดิน

(ข) ส่วนที่ ๒ ขยะอาหารจากผู้ใช้บริการในโรงอาหารเป็นเศษอาหารปรุงสุกเหลือจากการรับประทาน เกษตรกรมารับเพื่อไปเป็นอาหารสัตว์

(๒) ประเภทที่ ๒ ขยะรีไซเคิล หมายถึง วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ได้แก่ ขยะรีไซเคิลที่มีผู้รับซื้อ เพื่อนำไปรีไซเคิล ขยะรีไซเคิลที่มีมูลค่าต่ำไม่มีผู้รับซื้อแต่มีผู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อ

(๓) ประเภทที่ ๓ ขยะเชื้อเพลิง หมายถึง ขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ ถุงพลาสติก แก้วกระดาษ ชามกระดาษ กล่องพลาสติก หลอด ช้อนพลาสติก ตะเกียบไม้ ถุงขนม ซองพลาสติก กระดาษเคลือบพลาสติก และพลาสติกประเภทอื่น ๆ ที่แห้ง สะอาดหรือปนเปื้อนขยะอาหารเพียงเล็กน้อย มีค่าความร้อนสูงจะถูกรวบรวมเพื่อส่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์

(๔) ประเภทที่ ๔ ขยะอันตราย หมายถึง ขยะที่มีองค์ประกอบ หรือปนเปื้อนสารอันตราย วัสดุมีพิษ วัสดุกัดกร่อน และวัสดุไวไฟ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งขยะประเภทนี้จะถูกส่งไปจัดการอย่างปลอดภัย

(๕) ประเภทที่ ๕ ขยะประเภทอื่น ๆ ที่นอกจาก ขยะอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะเชื้อเพลิง และขยะอันตราย

ข้อ ๗ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานมุ่งเน้นการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับประชาคมจุฬาฯ ในการลด คัดแยกและนำขยะมาใช้ประโยชน์ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรการจัดการขยะอย่างยั่งยืนและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ข้อ ๘ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานส่งเสริมการสอน การวิจัยและนวัตกรรมอย่างมีส่วนร่วมกันของประชาคมจุฬาฯ เพื่อการจัดการขยะในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน

ข้อ ๙ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานดำเนินการพัฒนาให้ประชาคมจุฬาฯ เป็นต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน และขยายผลไปยังชุมชน สังคมและประเทศ

ข้อ ๑๐ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่วัดผลได้ ติดตาม ประเมิน และรายงานผลการปฏิบัติงาน อันจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

ข้อ ๑๑ ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้ ในการตีความหรือในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต  เอื้ออาภรณ์
อธิการบดี

ที่มา :

  • โครงการ Chula Zero Waste
  •  สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย