ประกาศคณะกรรมการบริหารโรงอาหารรวม เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประกอบอาหารและการบริโภคเพื่อคุณภาพ ความปลอดภัย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2563
ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการให้บริการด้านอาหารที่หลากหลาย โดยพื้นที่มหาวิทยาลัยจะมีโรงอาหารที่เป็นพื้นที่ให้บริการด้านอาหารเป็นพื้นที่หลักของนิสิตและบุคคลากร และในขณะเดียวกันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีย่านการค้าที่มีร้านอาหารที่สามารถให้บริการอาหารได้อย่างหลากหลายแก่บุคลากรและผู้คนในย่านมหาวิทยาลัย
การจัดการร้านค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารในย่านพาณิชยกรรม สวนหลวง-สามย่าน สยามสแควร์ และพื้นที่ภายใต้การดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จะมุ่งเน้นการส่งเสริมร้านอาหารที่เป็นของคนไทย มีระบบการจ้างงานลูกจ้างที่เหมาะสม ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งเสริมร้านค้าที่มีการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส เช่น การจ้างงานนิสิตนักศึกษาที่ยากจน มาทำงานบางเวลาในร้าน เช่น ร้านโอ้กะจู๋ ร้านค้าในฟู้ดคอร์ทในพื้นที่จตุรัสจามจุรี เป็นต้น รวมทั้งการไม่ส่งเสริมการใช้แรงงานเด็ก หรือการใช้งานเกินเวลาหรือผิดกฎหมายการจ้างงาน
ในพื้นที่โรงอาหารมีการควบคุมคุณภาพของอาหาร และติดตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ทั้งนี้ในด้านความสะอาดและคุณภาพของวัตถุดิบ ทางมหาวิทยาลัยจะมีการตรวจสอบให้ได้มาตรฐานอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยแหล่งวัตถุดิบจากตลาดในพื้นที่ คือ ตลาดสดสามย่าน โดยเป็นตลาดที่ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐอยู่อย่างสม่ำเสมอ อาทิเช่น กรมปศุสัตว์พญาไท สำนักอนามัย กทม. สำนักงานเขตปทุมวัน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีการระบุที่มาของการผลิตวัตถุดิบที่ขายในตลาดอย่างชัดเจน รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการใช้แรงงานในการผลิตและการขนส่งที่ไม่ละเมิดกฎหมายข้อควบคุมของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และมาตรฐานการขนส่งที่ถูกต้องอีกด้วย
ประกาศคณะกรรมการบริหารโรงอาหารรวม
เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประกอบอาหารและการบริโภค
เพื่อคุณภาพ ความปลอดภัย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พ.ศ. 2563
โดยที่เป็นการสมควรให้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประกอบอาหารและการบริโภคเพื่อคุณภาพ ความปลอดภัย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 วรรคสอง และข้อ 37 แห่งระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดเก็บเงินรายได้ พ.ศ. 2562 ประกอบกับข้อ 6 ของประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง เกณฑ์และอัตราการจัดเก็บเงินค่าบำรุงโรงอาหารรวม พ.ศ. 2549
ประธานคณะกรรมการบริหารโรงอาหารรวม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรงอาหารรวม ในการประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 จึงอนุมัติให้มีประกาศไว้ดังนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการบริหารโรงอาหารรวม เรื่อง การประกอบอาหาร และการบริโภค เพื่อคุณภาพ ความปลอดภัย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2563”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 3 มหาวิทยาลัยเห็นสมควรให้ผู้ประกอบการ มีความรับผิดชอบในการจัดหาอาหารและการใช้วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหารที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค ดังนี้
(1) เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ควรมาจากฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices, GAP) ตัดแต่งและบรรจุในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย จำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ว่าปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง
(2) อาหารทะเลและสัตว์น้ำแปรรูป ควรมาจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงาน
(3) ผักและผลไม้ ควรใช้ผักและผลไม้ตามฤดูกาล วัตถุดิบจากที่มีในท้องถิ่น และมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี
ข้อ 4 ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ในการประกอบอาหารในระดับสูง ใช้กรรมวิธีที่ถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร ตั้งแต่การทำความสะอาด จัดเก็บ วัตถุดิบ และภาชนะสำหรับประกอบอาหารและบรรจุอาหาร การปรุงประกอบอาหาร การวางจำหน่าย และต้องผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินคุณภาพด้านสุขาภิบาลอาหารตามโครงการระบบความปลอดภัยอาหารของโรงอาหารรวมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อ 5 มหาวิทยาลัยจะจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้มีการรีไซเคิลและลดขยะจากการประกอบอาหารและการบริโภคอาหารภายในโรงอาหารรวม โดยให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้โรงอาหาร ถือปฏิบัติดังนี้
(1) ให้ผู้ประกอบการสนับสนุนให้ผู้ใช้โรงอาหารรวมบริโภคอาหารภายในโรงอาหารรวมอย่างพอเหมาะ เพื่อลดปริมาณเศษอาหารเหลือทิ้ง
(2) ให้ผู้ประกอบการจัดการขยะเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภค (Food Waste) อย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(3) ให้ผู้ประกอบการจัดการน้ำมันที่ผ่านการทอดอาหารอย่างยั่งยืนเหมาะสม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำกลับไปใช้ใหม่ เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน
(4) ให้ผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้เร็ว และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะดำเนินการวางระบบการตรวจติดตามและประเมินผลการลด การคัดแยก และการกำจัดขยะในโรงอาหาร โดยมีระบบการเก็บข้อมูล บันทึก และรายงานปริมาณขยะเศษอาหารและขยะน้ำมันที่ผ่านการทอดอาหารที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการในโรงอาหาร เพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการขยะเศษอาหารและขยะน้ำมันที่ผ่านการทอดอาหารในโรงอาหารอย่างยั่งยืน
ประกาศ ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี)
ผู้ช่วยอธิการบดี
ประธานกรรมการบริหารโรงอาหารรวม
ที่มา:
สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
จุฬาฯ ปลอดบุหรี่
จุฬาฯ จับมือ ก.สาธารณสุข แก้ปัญหาสิงห์อมควัน จัดเขตสูบบุหรี่คุ้มครองนิสิต-บุคลากร นำร่องปรับพฤติกรรมคนไทย