กฎและข้อบังคับ

นโยบายการจัดการและส่งเสริมการอนุรักษ์การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นโยบายการจัดการและส่งเสริมการอนุรักษ์การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องและ สนับสนุน “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย ผ่าน 4 บทบาทหลัก คือ นโยบายและแนวทางปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Policy and Operation) วิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation) การเรียนการสอน (Teaching and Learning) และการเชื่อมโยงและสร้างความผูกพันกับสังคม (Outreach and Social Engagement)

เพื่อสนับสนุนการจัดการการใช้พลังงานให้เป็นระบบ ให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน  ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนด นโยบายการจัดการและส่งเสริมการอนุรักษ์การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้

ข้อ 1 ให้ถือว่าการอนุรักษ์พลังงานเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของอาจารย์ และนิสิต รวมถึงบุคลากรทุกคนที่จะต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการที่กำหนด รวมทั้งมีส่วนร่วมในการช่วยดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายในเรื่องของการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่มหาวิทยาลัยวางแผนไว้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ข้อ 2 กำหนดแผนและเป้าหมายการจัดการและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างเหมาะสมในแต่ละปี และสื่อสารให้อาจารย์ นิสิต และบุคลากรทุกคนเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ข้อ 3 ดำเนินการและพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างเหมาะสม โดยกำหนดให้การอนุรักษ์พลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของหน่วยงาน ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 4 ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรพลังงานของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่ใช้และแนวทางปฏิบัติงานที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ข้อ 5 การออกแบบก่อสร้างอาคารใหม่ และการออกแบบปรับปรุงอาคารให้ปฏิบัติตามมาตรฐานพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พร้อมทั้งกฎกระทรวงและกฎหมายว่าด้วยการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และเกณฑ์สำหรับการเตรียมความพร้อมการก่อสร้างและอาคารปรับปรุงใหม่ (TREES: Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) โดยสถาบันอาคารเขียวไทย

ข้อ 6 สนับสนุนการเลือกจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาถึงการได้รับการรับรองฉลากเขียว หรือ ตระกร้าเขียว ตามบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลือกดำเนินงานหรือการลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการที่มีการดำเนินกิจการภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการช่วยลดผลกระทบการเกิดมลพิษและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ข้อ 7 ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้เป้าหมายไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 3 ภายในปี พ.ศ. 2570

ข้อ 8 ส่งเสริมและสนับสนุนการลดการใช้พลังงานฟอสซิลของมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายให้ลดลงร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2570            

ข้อ 9 ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในมหาวิทยาลัยลงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2570 และก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutral University) ภายในปี พ.ศ. 2578

ประกาศ ณ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา
ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี ปฏิบัติการแทนอธิการบดี

ที่มา

สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

นโยบายด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มุ่งสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เป้าหมาย จึงได้กำหนดนโยบายด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต